มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

รถรับ-ส่งนักเรียนไม่ปลอดภัยเลิกถอดบทเรียนกันซะที!

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 14-06-2024 16:20

หมวดหมู่: บริการขนส่งและยานพาหนะ

ภาพประกอบข่าว

รถรับ-ส่งนักเรียนไม่ปลอดภัยเลิกถอดบทเรียนกันซะที!

ใช่! เพราะมันซ้ำซากจนเกินจะทนไหว ในเมื่อรถรับส่งนักเรียนซึ่งควรจะปลอดภัยมากๆ ยังมีคนพยายามดัดแปลงตัวรถเพื่อให้นั่งได้เยอะขึ้น โดยไม่สนเรื่องความปลอดภัยชีวิตของเด็กๆ

แล้ว... เรื่องเศร้าสลดก็เกิดขึ้นอีกจนได้ พ่อแม่ใจสลาย ป.1 ดับสลด รถตู้นักเรียนตกข้างทาง พบรถดัดแปลงเพิ่มที่นั่ง คนขับอ้าง จยย.ตัดหน้า เหตุเกิด 24 พฤษภาคม 2567อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/region/news_4591822

อุบัติเหตุหมู่รถตู้รับส่งนักเรียน ประสบอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำข้างทางบนถนนสายลำปาง-เมืองปาน เขตบ้านสบค่อม ต.บ้านเอื้อม อ.เมือง จ.ลำปาง ในที่เกิดเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เป็นเด็กนักเรียนกว่า 10 ราย และมีเด็กนักเรียนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านเอื้อม และเจ้าหน้าที่สมาคมกู้ภัยลำปาง ตลอดจนเจ้าหน้าที่กู้ชีพโรงพยาบาลลำปาง ได้เข้าไปตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เมื่อไปถึงพบรถตู้สีขาว ติดสติ๊กเกอร์สีส้ม รถรับส่งนักเรียน ทะเบียน นข 7072 ลำปาง พลิกหงายท้องตกอยู่ข้างถนน ห่างจากถนนประมาณ 10 เมตร มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียน ทั้งเด็กเล็ก และเด็กโต ร้องไห้ระงม เนื่องจากบาดเจ็บ และตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่ามกลางฝนที่ตกลงมา เจ้าหน้าที่จึงรีบช่วยเหลือ นำเด็กจำนวน 15 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ ออกมาปฐมพยาบาล และรีบนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลลำปางอย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้ บริเวณท้ายรถ ซึ่งกระจกแตก มีร่างของเด็กนักเรียน เสียชีวิต 1 ราย เป็นเด็กนักเรียนหญิง ชั้น ป.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัวเมืองลำปาง สภาพนอนเสียชีวิต เพราะร่างหลุดออกมาจากตัวรถ และถูกทับอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงช่วยเหลือยกตัวรถ นำร่างออกมา ซึ่งหลังเกิดเหตุ ก็มีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่ทราบข่าว ต่างเดินทางมายังจุดเกิดเหตุ ท่ามกลางเสียงร้องไห้ที่ตกใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับรีบเข้ากอดลูกหลานของตนเอง รวมถึงผู้ปกครองของเด็กที่เสียชีวิตด้วย ต่างร้องไห้เสียใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้

เจ้าหน้าที่ได้สอบถาม นางแสงจันทร์ อายุประมาณ 50 ปี คนขับรถตู้คันนี้ ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ บอกว่า เป็นรถตู้รับนักเรียนมาจากบ้านห้วยเป้ง ต.บ้านค่า อ.เมือง จ.ลำปาง และทยอยรับเด็กนักเรียนในหลายหมู่บ้าน เพื่อจะไปส่งในตัวเมืองลำปาง หลายโรงเรียน ซึ่งมีเด็กนักเรียนมาเกือบ 20 คน ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษา ระหว่างขับมานั้น เกิดฝนตก ก็มีรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่อยู่ด้านข้าง ได้หักเบียดตัดหน้าออกมา ในช่วงถนนทางโค้ง จึงทำให้หักหลบ และเสียหลัก เบรกไม่อยู่ เพราะถนนลื่น จึงเสียหลักพุ่งออกถนน ตกพลิกลงข้างทาง อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านเอื้อม จะได้สอบสวนคนขับรถอย่างละเอียด และจะตรวจสอบ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดต่อไป

ด้านเจ้าหน้าที่จากสำนักงานขนส่งจังหวัดลำปาง ได้รุดตรวจสอบที่เกิดเหตุ เพราะเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นรถรับส่งโดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นรถรับส่งนักเรียน พบว่า รถคันดังกล่าว มีการดัดแปลง และเพิ่มเบาะนั่ง ด้วยการทำราวที่นั่งเด็กเพิ่ม ทำให้นั่งได้จำนวนมาก จากการตรวจสอบ พบว่า รถคันนี้รับเด็กนักเรียนมากถึง 18 คน ซึ่งถือว่าเกินกว่ากฎหมายกำหนด ตาม พ.ร.บ.รถตู้โดยสารสาธารณะ ที่ต้องไม่เกิน 12 คน อย่างไรก็ตาม จะมีการสอบสวน และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

หลังมีข่าวนี้ออกมา บรรดาผู้ปกครองที่เป็นห่วงลูกหลาน พากันถามว่า ..."จิตใจทำด้วยอะไร ดัดแปลงรถตู้ให้นั่งได้ 20 กว่าคน เพียงแต่วันที่เกิดเหตุ มีเด็กนักเรียนนั่งมา 18 คน การดัดแปลงที่นั่งบนรถตู้ให้เพิ่มเกือบ 2เท่า ทำไปได้เนาะ นี่แหละที่น่ากลัว ขนาดความปลอดภัยของเด็ก ยังไม่คำนึงถึงเลย จะเอาแต่ได้อย่างเดียว เพราะการดัดแปลงเบาะนั่งภายในรถพวกอุปกรณ์ความปลอดภัย มันก็ไม่ได้มาตรฐานตามไปด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเสียชีวิตก็เป็นได้ อยากให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตรวจสอบให้แน่ชัด และอยากให้ลงโทษเป็นตัวอย่างไปเลย

ถ้าเป็นข่าวดังก็ออกมาบอกว่าจะถอดบทเรียน ตอนนี้บทเรียนในประเทศไทยเพียบ ถอดมากองไว้เฉย ๆ แล้วก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่วนพ่อ - แม่ ทุกท่าน ควรเปิดดูรถรับส่งนักเรียนที่ตัวเองจ้างให้มารับลูกๆ ของคุณอย่างถี่ถ้วน จะดีที่สุดหากพบว่ามีการดัดแปลงก็ไม่ต้องให้ลูกตัวเองไปกับรถตู้คันที่ดัดแปลง จะให้ดีแจ้งหน่วยงานเกี่ยวข้องด้วยพวกท่านด้วยจะดีมากกับความปลอดภัยของลูกๆ ของท่าน ไม่ใช่มานั่งเสียใจตอนที่เกิดเรื่อง"

หากพูดถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียนตามเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบกได้ระบุไว้ว่าอนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้ ต้องผ่านการรับรองจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา และต้องขออนุญาตใช้รถให้ถูกต้อง นำรถเข้าตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ทางราชการกำหนด ซึ่งจะได้รับอนุญาตครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น (ไม่เกินวันปิดเทอมของแต่ละภาคการศึกษา) ภายในรถต้องมีเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีอุบัติเหตุ เช่น ถังดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นมั่นคงแข็งแรง กรณีเป็นรถสองแถวหากมีทางขึ้นลงอยู่ด้านท้ายต้องปรับปรุงตัวรถให้มีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตกหล่นจากรถ ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น ห้ามดัดแปลงสภาพรถ ห้ามเพิ่มเบาะที่นั่งหรือการต่อเติมกระบะท้ายเพื่อให้รับนักเรียนได้มากเกินจำนวนบรรทุกที่ปลอดภัย ต้องมีป้ายสีส้มสะท้อนแสง มีข้อความ “รถโรงเรียน” ให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมติดไฟสัญญาณสีเหลืองไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ หากพบการฝ่าฝืนจะพิจารณาสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว

ถึงแม้รัฐบาลได้ออกนโยบายและมาตรการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2565 – 2570 แล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบรถรับ-ส่งนักเรียนให้มีคุณภาพความปลอดภัย เป็นเหตุให้การเกิดอุบัติเหตุของรถรับ-ส่งนักเรียน ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เหตุการณ์แบบเดิมเกิดขึ้นราวกับก็อปปี้กันมา นี่คือมหันตภัยของชีวิตเด็กที่เกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ใหญ่ มาตรฐานขั้นไหนจึงปลอดภัย 100% กับคำรำพันขอให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง หายนะแห่งชีวิตของเด็กน้อยบนรถโรงเรียน ยังคงอุบัติอยู่เป็นระยะ

ผู้ปกครองพากันตั้งคำถามว่า รถรับ-ส่งนักเรียน กับ รถโรงเรียน ที่ไม่ปลอดภัยเมื่อไหร่จะแก้ที่ต้นเหตุ เมื่อไหร่ชีวิตนักเรียนจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์ หลายหน่วยงานทั้งรัฐทั้งเอกชนไปกันจัง "ดูงานต่างประเทศ" ได้ประโยชน์อะไรกลับมาให้ประชาชนคนไทยที่เสียภาษีและไม่เสียภาษีบ้าง กระทรวงศึกษาธิการ มีโรงเรียนที่จัดรถรับส่งนักเรียนต้องผ่านอบรมผู้เกี่ยวข้องกับการรับส่ง(อาจมีก็ได้ แต่เห็นได้ว่ามันไม่ได้ผล) ส่วนนักเรียนที่ใช้รถโรงเรียน ควรมีการอบรมและซ้อมถ้าเกิดเหตุควรทำอย่างไร (ซ้อมหนีไฟจากอาคารมีหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ นับประสาอะไรกับการขึ้นรถ) กรมการขนส่งทางบก ก็ต้องทำงานเข้มแข็ง ใครมีรถโรงเรียน รถรับส่งนักเรียน ต้องผ่านการอบรมคนขับ พี่เลี้ยง เด็กรถ รถโรงเรียนควรมีสีเฉพาะ คนจะได้รู้ว่ารถโรงเรียน(มาจอดอะไรแถวนี้)และแบบเฉพาะ มีระบบความปลอดภัยทั้งเข้มขัดนิรภัย ทางออกฉุกเฉิน เมื่อเครื่องยนต์ดับประตูฉุกเฉินควรเปิดได้ง่ายๆ ไม่ใช่รถตู้-รถสองแถวทั่วๆไป ถ้าโรงเรียนใช้บริการรถรับส่งนักเรียนจากภายนอกควรตรวจสอบใบอนุญาตรับส่งนักเรียน แต่ทั้งหมดคือ ความ ชุ่ย มักง่าย ไม่รอบคอบ ของคน ปัญหาของรถรับส่งนักเรียนปัจจุบันก็คือ การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับส่งนักเรียน โดยไม่มีการปรับปรุงสภาพรถให้เหมาะสมและปลอดภัย ! ใช่มันคือเรื่องจริงของรถรับส่งนักเรียนทั่วประเทศไทย

แล้วคุณเชื่อไหมว่าเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ พบมากถึง 400 แห่ง ( สำรวจ ณ ปี 2567 )ยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยของรถรับ-ส่งนักเรียน ทำให้ชีวิตเด็กนักเรียนตกอยู่ในความเสี่ยง! ตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหา ไล่ตั้งแต่ คนขับรถขับเร็วน่าหวาดเสียว รับเด็กเกินจำนวนที่นั่งในรถ ลืมเด็กไว้ในรถ รถไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แทบไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์แบบนี้ยังเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนมีความต้องการรถรับ-ส่งนักเรียนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม" ข้อมูลเหล่านี้มาจากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกันศึกษาวิจัยเชิงสำรวจเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบบริการถรับ-ส่งนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเราต้องการผลักดันให้เกิดการเอาจริงกับเรื่องนี้! เราต้องการให้รถโรงเรียน และ รถรับ-ส่งนักเรียนไม่ปลอดภัยต้องเลิกถอดบทเรียนกันซะที!


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม