เหตุนี้ ! ... มีเรื่อง "คูปองที่ใช้ไม่ได้จริง เล่ห์ลวงของผู้ค้า ! "
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 07-08-2023 11:32
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

เหตุนี้ ! ... มีเรื่อง "คูปองที่ใช้ไม่ได้จริง เล่ห์ลวงของผู้ค้า ! "
เคยมั้ย ? “ซื้อ“ หรือ ”ได้ฟรี” E-Voucher หรือ คูปองของบรรดาร้านค้า ON LINE ที่ใช้เป็นกลยุทธ์เพิ่มยอดขายธุรกิจ แต่ ! ทำไม มันใช้ไม่ได้ล่ะ มีสารพัดเงื่อนไข เอามาอ้างให้ลูกค้าเสียผลประโยชน์ ซะงั้น !
เหตุนี้...จึงมีเรื่อง ...เมื่อมีผู้เสียหาย มาร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เล่าว่า ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ... “ ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆอีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป” โอ้โห ! แบบนี้ใครจะยอมพลาด ลงมือกดซื้อ Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ”
เย้ ! ได้กินของชอบราคาถูกแล้วนะเรา ผู้ร้องคิดในใจ รอๆๆ วันที่ไปร้าน จะกินให้อิ่มแปล้เลยทีเดียว แต่ .... ไม่ทันพ้นครึ่งวัน ฝันสลาย ! ทำไมน่ะเหรอ ? นั่นก็เพราะว่า ได้รับข่าวร้าย กลางวันแสกๆ เลยเมื่อเพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้ออ้างมาว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชัน มีจำนวนมาก ทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้อง ทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้น จึงขอแจ้งยกเลิก Voucher พร้อมทั้งมาตรการเร่งด่วน ดังนี้
1. ลูกค้าที่ซื้อ Voucher ราคา 9 บาท จะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 บาทเข้าในบัญชีผู้ใช้งานลูกค้า
2. ลูกค้าที่ซื้อ Voucher ราคา 99 บาท จะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 200 บาทเข้าในบัญชีผู้ใช้งานลูกค้า
3.หากลูกค้าไม่ประสงค์รับ Gift Card บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงิน 100% โดยสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัท ภายใน xxx 2566
4. บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงิน/ Gift Card ภายในวันที่ xxx 2566
คำอธิบาย ฟังไม่ขึ้นอ้ะ ! อย่ามาอ้างระบบขัดข้อง ทำให้ขายเกินจำนวนไม่ได้ เพราะบริษัท กำหนดจำนวน E-Voucher อย่างชัดเจน แถม ปิดการขาย ภายใน20 นาที ทันที ที่สำคัญ ลูกค้าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทุกอย่าง มายกเลิกแบบบนี้ ถือว่า ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยเฉพาะ การใช้เงื่อนเวลามาบีบลูกค้าที่ต้องการเงินคืน ต้องลงทะเบียน ภายในวันนี้ xxx เท่านั้น ให้เวลาแค่ 1 วันเนี่ยนะ ! ถ้าคนที่ตามข่าวไม่ทันก็เท่ากับถูกบีบให้จำยอมต้องรับ Gift Card น่ะสิ ! ตอนลูกค้าโอนไปยังให้ได้ทันทีแล้วทำไมบริษัทไม่คืนเงินกลับมาทันทีเหมือนกันล่ะ
จากเหตุทั้งหมดนี้ ผู้เสียหายจึงมาร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ ทางเราจึงให้คำแนะนำไปว่า.. หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้
1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆที่พบ 2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ 3.หลักฐานการชำระเงิน 4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ 5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย)
วิธีข้างต้นหากผู้บริโภค ต้องการดำเนินการเองสามารถนำไปใช้เรียกร้องเอากับผู้ประกอบการได้เลย ! ผู้บริโภค ต้องไม่ละทิ้งสิทธิของตัวเอง เราต้อง เรียกร้องตามสิทธิที่เป็นผู้เสียหาย หากซื้อคูปองกับร้านโดยตรง แจ้งความที่สถานีตำรวจทุกท้องที่ หากซื้อคูปองผ่านออนไลน์ สามารถแจ้งความได้ทุกท้องที่ เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าของร้าน
และหากคุณเป็นผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขาย หรือประสบปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะนี้ สคบ. ได้รวมรวมข้อมูลผู้ที่ได้รับความเสียหายส่งเรื่องดำเนินการตามกฎหมายให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (Department of Special Investigation : DSI) ให้รับเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากมีผู้เสียหายและความเสียหายที่มีมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท
อีกช่องทาง ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนออนไลน์ ที่ “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่ง https://efiling3.coj.go.th/eFiling ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากออนไลน์สามารถยื่นเรื่องด้วยตัวเอง และไม่จำกัดวงเงินมากน้อย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ดังนั้น อย่าลืมแนบหลักฐานที่ถูกหลอก ถูกโกงไปให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรณีฟ้องคดีแพ่งส่วนตัว หากร้องทุกข์ไว้กับ สคบ. ให้ทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์ หรือกรณีฟ้องคดีแพ่งกลุ่มและร้องทุกข์กับ สคบ. จะทำให้เรื่องร้องทุกข์ไว้เป็นอันยุติ
1.ไฟล์ภาพ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน เซ็นสำเนาถูกต้อง 2.ชื่อสกุล หรือชื่อผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมที่อยู่ที่ติดต่อได้ ของผู้ที่ทำให้คุณเสียหาย 3. ไฟล์เอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จ, แคปภาพจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อ, สลิปการโอนเงิน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้อง
และต้องทราบก่อนว่า มี 8 กรณีที่ไม่สามารถร้องเรียนผ่าน สคบ. ออนไลน์
1. เป็นเรื่องที่คุณได้ไปดำเนินคดีที่ศาลแล้ว
2. เป็นคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว
3. เป็นเรื่องที่คุณไปใช้สิทธิดำเนินคดีทางศาลด้วยตัวเอง และ สคบ. บังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว
4. เป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการล้มละลาย
5. เป็นเรื่องที่สิ้นสุดอายุความแล้ว
6. เนื้อหาสาระร้องทุกข์ไม่มีความชัดเจน เอกสารไม่ครบถ้วน
7. เป็นเรื่องที่ สคบ. ได้ดำเนินการเรียกผู้ร้องทุกข์มาชี้แจงแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์ไม่มา และไม่ส่งเอกสารมาชี้แจง
8. ต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่าง “ผู้บริโภค” กับ “ผู้ประกอบธุรกิจ” เท่านั้น ... สรุปคือ หากเป็นเหตุที่เกิดจาก “บุคคลฟ้องบุคคล” หรือ “ธุรกิจฟ้องธุรกิจ” จะอยู่นอกเหนืออำนาจ ของ สคบ.
ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง ยังรอผู้บริโภคที่เสียหายจากสินค้าและบริการมาใช้สิทธิ์ตัวเอง ผ่าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ รอคุณอยู่ที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร, โทร +66 2 248 3737 หรือ complaint@consumerthai.org
เครดิตเรื่อง : ฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค