ภัย"สินค้าและบริการทั่วไป"ก่อเหตุมากที่สุดในรอบครึ่งปี 2567
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 24-07-2024 18:07
หมวดหมู่: อื่นๆ

ภัย"สินค้าและบริการทั่วไป"ก่อเหตุมากที่สุดในรอบครึ่งปี 2567 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องรัฐบูรณาการรวมศูนย์ทำงาน จัดการกวาดล้างโจรออนไลน์ให้สิ้นซาก
วันนี้ ( 24 กรกฎาคม 2567 ) นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ตัวการใหญ่ที่ก่อปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จนกลายเป็นภัยอันดับ 1 มีตั้งแต่ สินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก โฆษณาเกินจริง เมื่อยกเลิกสัญญาแล้วไม่คืนเงิน รวมถึง การซื้อคอร์สบริการสถานเสริมความงามที่ผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ จากเหตุเหล่านี้ถูกร้องเรียนเข้ามาที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2567 มากถึง 193 เรื่อง ล้วนแต่เป็นเหตุที่ถูกกระทำซ้ำซาก
"ปัญหาด้านการเงินการธนาคารและประกัน" กลายเป็นภัยอันดับ 2 มีเหตุร้องเรียนมากถึง 164 เรื่อง มีตั้งแต่ หนี้สินครัวเรือน บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถยนต์ หนี้นอกระบบ รวมถึง บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญา และที่ตามมาติดๆ
อันดับ 3 "บริการขนส่งและยานพาหนะ"มีทั้งปัญหารถโดยสารสาธารณะ ผู้บริโภครถโดยสารสาธารณะประสบอุบัติเหตุไม่ได้รับการชดเชยเยียวยากรณีประสบอุบัติเหตุ และการซื้อทัวร์ เป็นต้น รวมเหตุร้องเรียน 65 เรื่อง
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง "อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย" เป็นอันดับที่ 4 มีเหตุร้องเรียน 57 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาอาคารชุดที่ชำรุดบกพร่อง การสร้างก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ผิดกฎหมาย ผู้รับเหมาก่อสร้างทิ้งงาน ไม่สามารถสร้างคอนโดเสร็จตามสัญญา
อันดับ 5 เป็นเหตุร้องเรียน "อาหาร ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ"รวม 45 เรื่อง ปัญหาที่พบมากที่สุด ได้แก่ อาหารหมดอายุ และอาหารปนเปื้อน
ส่วนปัญหา"สื่อและโทรคมนาคม" ที่ถูกร้องเรียนเป็นอันดับที่ 6 มี 21 เรื่องได้แก่ ถูกเรียกเก็บค่าบริการโดยที่ไม่ได้สมัครโปรโมชัน หรือเรียกเก็บเกินกว่าที่ กำหนดไว้ในโปรโมชัน ปัญหา SMS ก่อกวน เป็นต้น
อันดับที่ 7 เป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ "บริการสุขภาพ"มี 15 เรื่อง เช่น ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล การคิดค่ารักษาพยาบาลแพง เป็นต้น
ส่วนอันดับที่ 8 ได้แก่ ปัญหาด้าน "พลังงานและสิ่งแวดล้อม" มี 5 เรื่องร้องเรียน ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ เป็นต้น และ สุดท้ายอยู่ในหมวด "ปัญหาอื่นๆ" ที่เป็นปัญหาทั่วไป จำนวน 57 เรื่อง
จากภัยข้างต้นทั้งหมด ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภค 8 ด้าน และปัญหาอื่นๆ ที่เป็นปัญหาทั่วไป ได้สร้างความเสียหายกว่า 160 ล้านบาท นี่เป็นความเสียหายแค่ 6 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ จากผู้ประกอบธุรกิจทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญาซื้อสินค้าและบริการ โดยฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูล คำแนะนำ วิธีการ แนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้ได้รับรู้สิทธิอันพึงมีพึงได้ การให้ความช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันรวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องสิทธิ การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้ประกอบการ และการสนับสนุนการฟ้องคดีของผู้บริโภค ตลอดจนการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 622 เรื่อง ภายในครึ่งปี2567 สามารถแก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค ได้มากถึง 518 เรื่อง
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า ภัยการซื้อสินค้าและบริการ ออนไลน์ที่สร้างความเสียหายมากเป็นอันดับ1 มีเหตุจาก เฟซบุ๊ก ไลน์ และ อินสตาแกรม ที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนใหญ่เจอกับมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ ที่กฎหมายยังพบช่องโหว่ได้ชัดเจน นั่นคือ "พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่กำหนดขอบเขตการบังคับใช้เฉพาะนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจขายตรงต้องเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท หรือ เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท และหากเป็นบุคคลทั่วไป ต้องมีรายได้ต่อปี 1.8 ล้านบาทขึ้นไป เท่านั้น ที่ต้องมาจดทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จากข้อกฏหมายนี้ ทำให้ สคบ.ไม่สามารถเข้าไปกำกับบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังไม่มีระบบการตรวจสอบรายได้ของผู้ค้า ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องโหว่นี้เข้ามาเปิดเพจเฟสบุ๊คขายสินค้าและบริการหลอกลวงประชาชนจนเกิดความเสียหาย ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเสนอให้ ทบทวนหลักเกณฑ์การจดทะเบียนขายตรง โดยบังคับให้บุคคลธรรมดาที่จะประกอบธุรกิจขายสินค้าและบริการออนไลน์ต้องขออนุญาตก่อนการขายสินค้า เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพหลอกลวงผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมตรวจสอบผู้ประกอบการได้จาก ฐานระบบของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการที่รัฐควบคุมอย่างเข้มข้น เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดปัญหา ลดความเสียหายของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง
อีกมาตรการที่ช่วยลดภัยออนไลน์ทุกประเภท นั่นคือ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องผนึกกำลังบูรณาการทำงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดขั้นตอนกระบวนการ ทำให้แก้ไขปัญหาได้เร็ว เช่น เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารแห่งประเทศไทย ตำรวจไซเบอร์ร่วมมือกันกวาดล้างแอปพลิเคชันกู้เงินที่ผิดกฎหมาย เป็นการทำงานเชิงรุก จะช่วยป้องกัน และปกป้องประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ โดยไม่ต้องรอให้เกิดความเสียหาย มีข้อร้องเรียนก่อนค่อยมาตามแก้ไขภายหลัง ทำให้แก้ไขไม่ได้ สุดท้ายประชาชนก็ได้รับความเสียหาย ซึ่ง ประเด็นนี้ นางนฤมล บอกว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐหลายครั้งจากหลายเวทีระดมความคิดเห็น แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้ปัญหาผู้บริโภคถูกหลอกลวงยังเกิดขึ้นซ้ำซาก ดังนั้น จึงขอเสนอให้รัฐ บูรณาการรวมมือกันทำงานกวาดล้างภัยออนไลน์ มีการจัดทำตราสัญลักษณ์ที่ยืนยันการประกอบธุรกิจอย่างถูกกฏหมาย โดยบังคับให้ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ติดตั้งที่หน้าเพจ ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบจากหน้าเพจออนไลน์ได้ทันที เช่น เพราะหากไม่มีตราสัญลักษณ์สามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นแก๊งมิจฉาชีพ และเสนอให้มีฐานข้อมูลมิจฉาชีพ และเปิดเผยข้อมูลมิจฉาชีพเพื่อเตือนภัยกับประชาชน
เมื่อพูดถึงปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จนกลายเป็นภัยอันดับ 1 ที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เช่น การซื้อคอร์สบริการสถานเสริมความงามที่ผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ปัญหาส่วนใหญ่มาจากการเอารัดเอาเปรียบ และอาศัยความไม่รู้เท่าทันกฏหมายของผู้บริโภค นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะนำว่า หากใครใจไม่แข็งพอ สติไม่อยู่กับตัว เป็นคนขี้เกรงใจไม่กล้าปฏิเสธ อย่าเฉียดกรายเข้าไปใกล้คลินิกเสริมความงามเด็ดขาด เพราะหากโดนกลยุทธ์ "ยัดเยียดโปรโมชัน-หยอดคำหวาน - มัดมือชก" จะแก้ไขลำบาก และที่สำคัญมีผู้เสียหายหลายราย ยอมให้ถ่ายรูปคู่กับพนักงานอย่างยิ้มหวาน เมื่อไปแจ้งความตำรวจ ว่า “ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าที่ไม่ต้องการ “ แต่ พนักงานสอบสวน ระบุว่า ลักษณะนี้ เป็นการ “ ยินยอมพร้อมใจ “ แถม หากขึ้นศาล ยังมีภาพ ที่ คลินิก ให้เหยื่อ ถ่ายรูปร่วมกับ พนักงาน ทำท่า มินิฮาร์ท เท่ากับ ปิดช่อง การถูกบังคับ ดังนั้น การป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ หากพบการเสนอขายแบบคะยั้นคะยอให้คล้อยตาม ผู้บริโภคต้องใจแข็ง พิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนการตัดสินใจทำสัญญา อย่ายื่นบัตรเครดิตให้พนักงานไปง่ายๆ จนกว่าจะตัดสินใจดีแล้ว สอบถามรายละเอียดพร้อมอ่านสัญญาให้รอบคอบ พิจารณาว่าสัญญาครอบคลุมทั้งเรื่องการขอยกเลิกหากไม่พอใจหรือไม่ เหตุแห่งการยกเลิกมีอะไรบ้าง ตลอดจนแนวทางปฏิบัติหากเกิดความเสียหายจากการเข้ารับบริการ และ ฝากไปถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล ด้วยว่า การทำสัญญาในลักษณะฮาร์ดเซลล์ ควรมีการกำกับดูแลเป็นพิเศษได้แล้วหรือยัง หรือต้องให้ผู้บริโภคดูแลตัวเองกันต่อไป
ส่วนประเด็นซื้อคอร์สบริการสถานเสริมความงามที่ผู้บริโภคไม่สามารถยกเลิกสัญญาได้ ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ"ใบเสร็จ"เพราะแสดงแค่จำนวนเงินเท่านั้น แต่ไม่มีรายละเอียดของการบริการแต่ละรายการ ว่ามีอะไรบ้าง นายธนัช ชี้ว่า จากเหตุนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงเมื่อต้องใช้สิทธิ ทำให้ผู้บริโภค ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะ “ ใบเสร็จรับเงิน “ ที่ผู้ประกอบการบางรายใช้แค่ “บิลเงินสด “ ที่แค่ไปซื้อแบบสำเร็จรูป เล่มละ ไม่กี่สิบบาท แล้วก็เอามาเขียนให้ลูกค้า ทำให้เกิดปัญหาตอนที่ผู้บริโภคต้องการเรียกร้องเงินค่าชดเชย เพราะได้รับเอกสารไม่สมบูรณ์ - ไม่ถูกต้อง อีกทั้ง ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการที่ใช้บิลเงินสด อาจต้องการหลบเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการ มักใช้ข้อความเอาเปรียบผู้บริโภค เขียนในใบเสร็จรับเงิน เช่น งดคืนเงิน, งดคืนเงินทุกกรณี , ไม่คืนเงินทุกกรณี, NO REFUND ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (4) กำหนดว่า หลักฐานการรับเงินต้องไม่มีข้อความที่กำหนดว่าห้ามผู้บริโภคยกเลิกการใช้บริการ หรือ ข้อความที่มีลักษณะหรือความหมายในทำนองเดียวกัน ถ้ามีข้อความลักษณะนี้อยู่ในใบเสร็จ ตามมาตรา 35 จัตวา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อความเช่นว่านั้น อีกเหตุที่ผู้บริโภค ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะผู้ประกอบการบางราย ไม่ยอมแจกแจงรายละเอียดในสินค้าและบริการแต่ละรายการให้ชัดเจน โดยเขียนแค่ยอดจำนวนเงินรวมเท่านั้น
จากเหตุแห่งปัญหาข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งดูแลประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีข้อบังคับเพิ่มเติม ใน “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563” เกี่ยวกับรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน โดยควรระบุรายละเอียดของบริการหรือคอร์สที่ผู้บริโภคซื้อด้วยว่า มีรายละเอียดการให้บริการอะไรบ้าง แต่ละรายการเป็นจำนวนเงินเท่าใด เนื่องจากพบปัญหาว่าในหลักฐานการรับเงิน จะระบุเพียงว่าเป็นค่าบริการ และยอดเงินรวม ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถเข้าใจได้ว่า จะสามารถเข้าไปรับบริการอะไรบ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน
ส่วน “ผู้บริโภค” มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่รับ “บิลเงินสด” ซึ่งเป็นไปตาม “ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 “ภายใต้การกำกับดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ. ) โดยจะต้องระบุรายละเอียดของผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ดังนี้ 1) ชื่อและที่อยู่ของประกอบธุรกิจ 2) ชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน 3) ชื่อและที่อยู่ของผู้บริโภค 4) วันเริ่มต้น และ วันสิ้นสุดตามเงื่อนไข หรือ เงื่อนเวลาการให้บริการ หรือ การเป็นสมาชิก และ 5) จำนวนเงินค่าบริการ (รายละเอียด ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค https://www.ocpb.go.th/download/Beauty.pdf)
จากต้นเหตุของปัญหาทั้งมวลที่สร้างผลกระทบและเป็นภัยต่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง บูรณาการรวมศูนย์ทำงาน แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน เพื่อจัดการกับอาชญากรรมสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่มาตรการกวาดล้างโจรออนไลน์ให้สิ้นซาก อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตัวเองเหมือนในเวลานี้