แนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
เขียนโดย: ไพศาล ลิ้มสถิตย์
เขียนเมื่อ: 29-12-2024 14:23
หมวดหมู่: บริการสุขภาพ

สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปี 2564-2565 พบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่าภายในเวลา 1 ปี จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 0.14 96 คิดเป็นจำนวน 78,742 คน ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เปรียบเทียบกับข้อมูลการสำรวจในปี 2565 พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1.21% คิดเป็นจำนวน 709,677 คน ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป และเชื่อว่าน่ามีจำนวนผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าที่มีการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ข้อมูลสำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเยาวชนอายุ 13-17 ปี ขององค์การอนามัยโลก (Global Youth Tobacco Survey-GYTS) ปี 2556-2565 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กเยาวชนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่ข้อมูลที่น่ากังวลอย่างมากคือ เด็กเยาวชนไทยมีอัตราความชุกในการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในปี 2565 สูงถึงร้อยละ 17.6 คือสูงติดลำดับต้นๆ ของโลก1
จึงเป็นเรื่องน่าวิตกมากที่เยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าติดอันดับโลกสาเหตุที่ทำให้มีการการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในกลุ่มเยาวชน คนวัยทำงาน มีดังนี้
1.ปัญหาการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมากโดยไม่สามารถดำเนินคดีไปถึงนายทุนที่อยู่เบื้องหลังได้ เช่น นำเข้ามาด้วยตู้คอนเทนเนอร์สำแดงสินค้าเป็นเท็จว่าเป็นสินค้าอื่นที่นำเข้าจากประเทศจีน
2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างหนึ่ง แต่ไม่พบข้อมูลข่าวสารการจับกุมหรือดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามกฎหมายฉบับนี้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น กรณีที่มีการรีวิวบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ทางออนไลน์ของผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ในทางความเป็นจริงมักเป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทบุหรี่ โดยมุ่งหมายที่จะโฆษณาหรือขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อประชาชนเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่กลับไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ส่งผลทำให้มีการจูงใจให้มีการซื้อบุหรี่ไฟฟ้ามาใช้ของผู้บริโภค ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลข่าวสารการดำเนินคดีผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค มีการจับกุมผู้กระทำผิดหลายราย
3.ปัญหาการทุจริตหรือละเลยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจเกิดจากเจ้าหน้าที่บางส่วนปล่อยให้มีการวางจำหน่ายในตลาดนัดหรือช่องทางออนไลน์ แต่ไม่มีการดำเนินคดีตามกฎหมาย หรือมีการแจ้งเบาะแสแล้ว แต่ปรากฏว่าข่าวรั่วไปถึงผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า
4.ปัญหาการแทรกแซงของธุรกิจยาสูบผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร โดยมีการแต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบหรือได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเป็นกรรมาธิการ ซึ่งมีอิทธิพลต่อทิศทางการทำงานของคณะกรรมาธิการโดยรวม รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เห็นว่าการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้มีความผิดปกติ การที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า ถือว่าผิดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบโลกมาตรา 5.3 ซึ่งจะส่งผลให้รายงานของคณะกรรมาธิการฯนี้ ขาดความน่าเชื่อถือ ส่อที่จะโน้มเอียงไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่2
5.หน่วยงานและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องไม่สามารถติดตามนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการลักลอบนำเข้าหรือขายบุหรี่ไฟฟ้ามาดำเนินคดีได้ มีเพียงการจับกุมผู้ขายรายเล็กๆ หรือคนเฝ้าโกดังสินค้า
ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายและเป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นำโดย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบต่าง ๆ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ได้ยื่นรายชื่อคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 592,727 คน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและคนรอบข้างที่ได้รับควันหรือละอองลอย มีปริมาณสารนิโคดินสูงเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา 20 ซอง ซึ่งสารนิโคตินเป็นสารเสพติดอันตรายกับสมอง ส่งผลกระทบต่อ อารมณ์ การควบคุมตัวเอง โรคทางจิตใจ3
และยังมีสารเคมีอื่น ๆ เช่น โลหะหนัก (เช่น สารตะกั่ว ดีบุก นิเกิล) แคดเมียม เบนซีน โพรพิลีนไกลคอล กลีเซอรีน รวมถึงฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ที่เป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มร้ายแรงที่สุด4ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวปรากฏเรื่องข้อเสนอแนวทางการจัดการบุหรี่ไฟฟ้าของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร 3 แนวทางคือ
แนวทางที่ 1 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยังคงห้ามนำเข้าและห้ามขายเข้ามาในประเทศตามกฎหมายปัจจุบัน
แนวทางที่ 2 เสนอให้บุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อนถูกกฎหมาย (heated tobacco products) สามารถนำเข้าและขายได้ในประเทศ
แนวทางที่ 3 เสนอให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย สามารถนำเข้าและขายได้ประเทศ โดยมีข้ออ้างเรื่องการจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิต
ผู้เขียนเห็นว่า หากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎรเลือก แนวทางที่ 1 คือยังคงให้บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดผิดกฎหมาย เป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่มีข้อสังเกตคือ การเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประกาศกระทรวงพาณิชย์ คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร อีกทั้งการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ก็ที่ไม่มีความจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่สามารถนำมาปรับใช้ได้
มูลเหตุของปัญหาที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันคือ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการควบคุมการโฆษณา ส่งเสริมการขายหรือรีวิวบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ในขณะที่กรณีการขายหรือการโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศจีน การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเติมกลิ่น รส มีข้อกำหนดเรื่องการขายที่เข้มงวด การห้ามสูบในที่สาธารณะในบางเมืองหรือมณฑล
ในกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เลือกแนวทางที่ 2 และ 3 ก็จะทำให้เกิดปัญหาคือ ทำให้มีการนำเข้า ขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และยังคงมีการขายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายเหมือนเดิม เพราะกลไกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถควบคุมการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความคาดหวังว่าจะสามารถจัดเก็บภาษียาสูบเพิ่มขึ้น ก็เป็นการคาดการณ์ที่อาจไม่เป็นความจริง อีกทั้งยังมิได้พิจารณาค่าใช้จ่ายและงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ภาครัฐและประชาชนต้องรับภาระซึ่งอาจมีมูลค่าสูงกว่ารายได้ที่ได้รับ กลุ่มผู้ได้ประโยชน์ก็คงจะเป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ กลุ่มชาวไร่ยาสูบเองก็ไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ โดยถูกหลอกให้เชื่อว่าจะทำให้ขายใบยาสูบได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงนิโคตินที่ใช้ล้วนแต่เป็นนิโคตินสังเคราะห์ทั้งสิ้น
ประเด็นเรื่องการตีความว่าผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใช้ทั่วไปครอบครองบุหรี่ไม่กี่ตัว ถือเป็นผู้กระทำผิดตามมาตรา 246 ของพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 25601 นั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการตีความดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเอาผิดกับผู้นำเข้าหรือผู้เกี่ยวข้องเป็นหลัก ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรและตำรวจจึงควรดำเนินคดีตามกฎหมายศุลกากรเฉพาะผู้ร่วมขบวนการลักลอบนำเข้า
กล่าวโดยสรุป แนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่เหมาะสมของไทยในขณะนี้คือ การห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทในไทยต่อไป และรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมาย
อ้างอิงจาก
-
WHO global report on trends in prevalence of tobacco use 2000-2030.
-
นักวิชาการชี้! รายงาน กมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า 2 ใน 3 แนวทางหวังยกเลิก "ห้ามขาย" (4 ธันวาคม 2567) link title
-
กทม.ร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่าย แสดงพลังต้านบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเรียกร้องให้คงกฎหมายห้ามนำเข้า และห้ามขาย (11 ธันวาคม 2567) link title
-
บุหรี่ไฟฟ้ามี “ฟอร์มาลดีไฮด์” ที่เป็นสารก่อมะเร็ง (18 มิถุนายน 2567) link title
ไพศาล ลิ้มสถิตย์
กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์