มหากาพย์ ซื้อตุ๊กตุ๊ก แต่ได้คดีอาญา ตอนจบ
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 12-04-2024 10:07
หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

มหากาพย์ ซื้อตุ๊กตุ๊ก แต่ได้คดีอาญา !กับ ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ตอน (2) สุดท้าย
ตอนแรก หลังจากสอบเท็จจริง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นถึงมูลเหตุ “น่าจะเข้าข่ายฉ้อโกง “ด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่แบงก์ออมสิน สาขาเยาวราช กับ สยามพารากอน ที่ร่วมมือกับ สหกรณ์บริการจักรเพชร ในโครงการซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร ส่วน ตอนสอง จะชี้ให้เห็นหลักฐานเด็ดที่ถูกเปิดออกมาแบบคาดไม่ถึง !
แล้วความมาแตกเอาตอนไหน??? ก็ตอนที่มีเหยื่อคนแรกถูกฟ้อง บุคคลผู้นั้นก็คือ คุณวันทอง ศรีจันทร์ ต้องหอบสังขารในวัยชราไปขึ้น “ศาลจังหวัดสุรินทร์ ” เพราะถูกแบงก์ออมสินยื่นฟ้อง “ผิดสัญญาเงินกู้”
(ศาลจังหวัดสุรินทร์ ที่อยู่: 809 ตำบล นอกเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ สุรินทร์ 32000 )
คนยากจนน่ะไม่มีเงินมาจ้างทนาย ตอนได้หมายศาล ทั้งกลัว ทั้ง งง แต่ก็เล่าให้ศาลฟังว่า กู้เงินซื้อรถตุ๊กตุ๊ก แต่ไม่เคยได้เงินมาอยู่ในมือแม้แต่บาทเดียว ศาลจึงแนะนำต้องหาทนายจิตอาสามาช่วยสู้คดี แต่ไปหาที่ไหนก็ไม่ได้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับฟังเรื่องราวนี้ด้วยความเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากเจ้าตัวเป็นคนแรกที่บากหน้า มาขอพึ่งพิงที่นี่ โดยมีคนรู้จักแนะนำ พร้อมพาเพื่อนขับตุ๊กตุ๊กมาด้วย ซึ่งคนนี้แหละที่มีหลักฐานเด็ดในมือ
คราวนี้แหละ ”บิงโก” เลย เพราะเจ้าตัวเอาสัญญากู้เงินกับสหกรณ์บริการจักรเพชร มาให้ดู แต่..ใช้ชื่อเมียเป็นคนกู้! นี่แหละ ก็เลยได้เห็นว่าสหกรณ์ ฯ ทำสัญญากู้เงินอีก 1 ฉบับ มูลค่า 345,000 บาท ซึ่งเป็นราคารถตุ๊กตุ๊ก ที่แอบ “สอดไส้ “ อยู่ในสัญญากู้เงินของแบงก์ออมสิน แต่ผู้เสียหายทุกคนที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร ไม่มีใครสักคนที่รู้เรื่องนี้!เพราะอะไร? นั่นก็เพราะ...พวกเขาคิดว่าได้กู้แบงก์ออมสินซื้อรถตุ๊กตุ๊กแล้วน่ะสิ เท่ากับผู้เสียหาย นอกจากเป็นหนี้เงินกู้จากแบงก์ออมสิน 5 แสนบาทถ้วน ยังตกเป็นหนี้เพิ่มกับสหกรณ์บริการจักรเพชร อีกเกือบ 4 แสนบาท เท่ากับคนละคน เฉียดๆ เป็นหนี้คนละเกือบ1ล้านบาท “ เงินไม่ตกถึงมือ แต่ได้หนี้มาแทน “กลายเป็น “ตุ๊กตุ๊ก ไม่เอื้ออาทร” อันนี้เป็นจุดพีคเลย ผู้พิพากษาได้ฟังท่านยังอึ้ง
ปัญหา คือ สหกรณ์บริการจักรเพชร สอดไส้สัญญากู้เงิน แถมให้ผู้เสียหายต้องไปจ่ายเงินกู้ลงบัญชีกับคนที่ไม่ได้ปล่อยกู้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอตั้งคำถาม ทำไม ? แบงก์ออมสิน ถึงปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้กับลูกหนี้ของตัวเอง!
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีหลักฐาน ที่ สหกรณ์บริการจักรเพชร เป็นตัวรับเงินก้อนทั้งหมดจากแบงก์ออมสินเท่ากับว่า ได้ยอดเงินกู้ก้อนใหญ่มาอยู่ในมือ แถมได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า โดยใช้วิธีเจ้าเล่ห์มาเก็บส่วนต่างเอากับคนซื้อตุ๊กตุ๊ก แถม สหกรณ์ฯ ยังไปฟ้องคดีอาญากับสามล้อ อ้างเหตุ ฉ้อโกงเจ้าหนี้และข้อหาหนักอีก 2 ข้อหา ทั้งที่ตัวเองแอบแทรกสัญญากู้เงินโดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว ขณะที่ ธนาคารออมสิน ก็ฟ้องคดีแพ่งให้ชำระหนี้ เพื่อยึดทรัพย์สินลูกหนี้ ทั้งที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตามนั้น
สหกรณ์ยื่นฟ้อง ฟ้องผู้เสียหาย ว่า “ ฉ้อโกงเจ้าหนี้และข้อหาหนักอีก 2 ข้อหา “ มี 36 ราย ถูกฟ้องจากศาลแขวง (แต่น่าจะมีผู้ถูกฟ้องเยอะกว่านี้ ) มี 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่
1.ฉ้อโกงเจ้าหนี้
2.แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน
3.แจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน
เมื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหาย พร้อมหลักฐาน จึงเริ่มเดินหน้า เจรจา กับ คู่กรณี ทั้ง ธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช กับ สยามพารากอน และ สหกรณ์บริการจักรเพชร โดยล้อมโต๊ะ ที่ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 มี เจ้าหน้าที่ กรมการขนส่งทางบก ไปร่วมฟังด้วย
และแล้วก็มีอีกประเด็นโป๊ะแตก เมื่อ ผู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊ก ยังไม่มีใครได้ “เล่มทะเบียน” แม้แต่คนเดียว นั่นเพราะ สหกรณ์บริการจักรเพชร แอบเอาไปเก็บไว้ โดยไม่ยอมบอกเจ้าของตัวจริง ซึ่ง กรมการขนส่งทางบก แจ้งว่า ผู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊ก“ยังมีกรรมสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ " จึงมีสิทธิ์ ไป “คัดเล่มทะเบียน“
เทียบให้เห็นชัดๆ หากทำไฟแนนซ์กู้เงินซื้อรถ เจ้าของรถ คือ ธนาคาร ส่วน ผู้กู้ เป็นแค่ “ ผู้ครอบครอง “แต่ในส่วนของตุ๊กตุ๊ก เจ้าของรถ คือ ผู้ซื้อ เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ของธนาคาร , และ ไม่มีระบบไฟแนนซ์ เนื่องจาก เอาเงินแบงก์ออมสินมาซื้อรถเงินสด ซึ่งจะต้องจ่ายหนี้คืนกับออมสิน เท่านั้น แต่ สหกรณ์บริการจักรเพชร กลับเจ้าเล่ห์ คิดวิธีการฉ้อฉล ที่เรียกว่า “ ให้ผู้ซื้อรถ ไปเป็นหนี้แทน แล้วก็เอาเงินมาบริหารจัดการ .. ประเด็น คือ ถึงแม้ ผู้ซื้อรถ จ่ายเงินกับ แบงก์ออมสิน แต่กลับให้นำเงินที่สามล้อจะชำระหนี้ ต้องจ่ายเข้าบัญชีสหกรณ์บริการจักรเพชร ทั้งหมด
เมื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซักถามประเด็นนี้ ในวงประชุมใหญ่ ที่แบงก์ออมสิน สำนักงานใหญ่ วันที่ 15 มกราคม 2562 สหกรณ์บริการจักรเพชร อ้างว่า จ่ายเงินคืนแบงก์ออมสินเป็นก้อน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงตั้งคำถามกลับว่า แล้วรู้ได้อย่างไร? ผู้ซื้อรถรายไหน จ่าย หรือ ไม่จ่าย หนี้ คำตอบคือ ใช้วิธี “ ถัวเฉลี่ย “ อ้าว จะเป็นแบบนั้น ได้ยังงัย !!!! ส่วนแบงก์ออมสิน อ้างว่า ปล่อยกู้ตามปกติ แต่ยอมรับว่า สหกรณ์บริการจักรเพชร เป็น ผู้ค้ำประกัน!
โดยสรุปจากการประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง พบว่า เงินทั้งหมดที่ผู้เสียหาย กู้จากธนาคารออมสิน ถูกโอนให้กับ “สหกรณ์บริการจักรเพชร“เมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคารออมสินมาหักกับ ค่ารถตุ๊กตุ๊กและ ค่าธรรมเนียมให้กับ ”สหกรณ์บริการจักรเพชร รวมจำนวน 345,000 บาท พบว่า มี“ ส่วนต่าง “ ของ เงินที่แอบเก็บเอาไว้จากผู้เสียหาย รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท
แล้วเห็นอะไรจากเหตุนี้ ? ก็เห็นว่า สหกรณ์บริการจักรเพชร บีบบังคับให้ผู้เสียหายต้องเซ็นสัญญากู้เงิน โดยขู่ว่า หากไม่ยอม จะไม่ได้ไปดูรถนั่นเท่ากับว่า ต้องเซ็นสัญญากู้เงิน แล้วจึงได้รับรถทีหลัง ยกตัวอย่าง กรณีคุณวันทอง ทำสัญญากู้เงินซื้อรถ เดือนธันวาคม 2558 แต่กลับได้รับรถ มีนาคม 2559 เท่ากับเซ็นสัญญากู้ล่วงหน้า 3 เดือน
พอถึงวันรับรถ แต่ละคนก็ได้ใบสรุปยอดสินเชื่อ มีการแจกแจง ค่าใช้จ่าย เช่น ยอดหนี้เท่าไหร่ จ่ายงวดละเท่าไหร่ เป็นเวลากี่ปี
ประเด็นตัวอย่างของคุณวันทอง บางช่วงจ่ายเงินเป็นก้อนตามสัญญาไม่ได้ จึงทยอยจ่ายเป็นรายอาทิตย์ แต่พอหยุดจ่าย “ หมายศาลมาถึงบ้าน ระบุว่า เป็นหนี้ธนาคารออมสิน 4 แสนบาท ( แต่ค่ารถตุ๊กตุ๊ก 1 คัน มีราคาแค่ 345,000 บาท )
ประเด็นอยู่ที่ผู้เสียหาย งง ...คิดว่า ตัวเองเป็นหนี้สหกรณ์บริการจักรเพชร เพราะโอนเข้าบัญชีให้ทุกครั้ง และยังมีใบเสร็จอีกด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นปมปัญหาจากเหตุการณ์นี้ นั่นคือ แบงก์ออมสิน สาขาสยามพารากอน กับ เยาวราช และสหกรณ์บริการจักรเพชร ไม่เคยชี้แจงผู้เสียหายที่ซื้อรถตุ๊กตุ๊กอย่างแน่นอน เพราะชาวบ้านแต่ละคน เข้าใจไม่ตรงกัน
บางคนก็เข้าใจว่า ไปเซ็นสัญญาเพื่อดูรถเท่านั้น บางคนพอไปเห็นสภาพรถ ถึงกับเบือนหน้าหนี ไม่เอารถกันเลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ต้องตกที่นั่งลำบากกลายสภาพเป็นหนี้เฉียดล้าน คนไม่เอารถ ไม่ควรต้องเป็นหนี้มั้ย! แต่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะหลงไปเซ็นชื่อ เท่ากับยอมรับการกู้ เป็นหนี้ไปแล้ว
นับตั้งแต่ปี 2562 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่องต่อ ผู้บังคับการปราบปราม กลับได้คำตอบ ณ เวลานั้น ว่า ... ไม่รู้จะตีประเด็นเป็นคดีอะไร และไม่เข้าข่ายคดีในความรับผิดชอบ จึงส่งต่อให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อจ่ายคดี จะเป็น คดีเศรษฐกิจ หรือคดีผู้บริโภค” กระทั่งเวลาล่วงเลยมาจนถึง ปลายปี 2566 เปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมา 3 นาย แต่กลับกลายเป็น 5 ปี ที่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางคดี ทั้งที่เรื่องราวไม่ซับซ้อนอะไรเลย
แถมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ส่งหลักฐานให้หมดทุกอย่าง เอารถตุ๊กตุ๊ก 10 คัน ไปตรวจสอบที่กองพิสูจน์หลักฐานก็ทำให้ ตั้งแต่ 2563 มีทั้งช่วยสอบพยาน สอบเคสเป็นร้อยคน แต่ยังไม่ส่งฟ้องคดีอาญา พอเข้าปลายปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด ทางตำรวจก็เลื่อนทำคดี
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือติดตามสอบถามทางคดีมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกเดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากพนักงานสอบสวน กระทั่ง 21 ธันวาคม 2565 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และทีมทนายความ ได้ พาตัวแทนผู้เสียหาย กลุ่มผู้ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร เข้ายื่นหนังสือต่อ พลตำรวจโท จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีให้ดำเนินการตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษ และขอร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม ต่อพนักงานสอบสวน ให้ทำการสอบสวน และดำเนินคดีกับ ประธานกรรมการของสหกรณ์ฯ และกรรมการของสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ทุกคน และผู้จัดการของสหกรณ์ฯ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสยามพารากอน (ในขณะนั้น)ในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ความผิดฐานลวงขาย และความผิดฐานไม่ส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญากู้ยืมเงิน จนถึงที่สุดและหากสอบสวนพบว่า มีการกระทำความผิดอื่นใดอีกหรือพาดพิงไปถึงบุคคลใดก็ถือว่าคำร้องทุกข์กล่าวโทษนี้เป็นการร้องทุกข์ในความผิดฐานนั้นและบุคคลนั้นด้วย จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
พันตำรวจเอก ทัศน์ภูมิ จารุปรัชญ์ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (“บก.ปอศ.") เป็นหัวหน้าคณะทำงานเรื่องนี้ ได้เป็นตัวแทนมารับหนังสือ โดยให้การยืนยันว่า คำร้องอยู่ในสำนวนทั้งหมดนับตั้งแต่รับเรื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี2562 จนถึง2565ไม่ได้เพิกเฉยต่อการสอบปากคำพยานทั้งฝ่ายผู้ร้อง และ ผู้ถูกร้องรวมถึง พยานคนกลางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันไม่มองข้ามพยาน-หลักฐาน ที่มีทั้งหมด ทุกอย่างบรรจุอยู่ในสำนวน โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวน ที่ตั้งขึ้นมาทำคดีได้ดำเนินการหาข้อเท็จจริง โดยประชุมกันทุก 3 เดือน เพื่อตกผลึกในประเด็นสำคัญ ขอยืนยัน พนักงานสอบสวนไม่ได้ยื้อคดี แต่เพราะมีกรอบเวลาในการดำเนินงานไม่ใช่แค่สอบปากคำและสั่งฟ้อง แต่ต้องได้พยานหลักฐานที่สามารถยืนยันความผิดของผู้ถูกร้อง และ พยานหลักฐานที่ถูกต้องของผู้เสียหาย ขอยืนยันข้อเท็จจริงทุกอย่าง ปรากฎอยู่ในสำนวนหมดแล้ว พร้อมเร่งเดินหน้าทำคดีเพื่อให้ปรากฎข้อเท็จจริง
กระทั่ง ต้นเดือนพฤษภาคม 2566 พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( บก.ปอศ. ) ได้พยาน-หลักฐาน ที่สามารถเอาผิดคดีอาญา กับ บรรดาผู้บริหาร ของ “สหกรณ์บริการจักรเพชร” ข้อหา ยักยอกทรัพย์ จึงแจ้งให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พาตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร เข้าพบ พนักงานสอบสวน มาสอบปากคำเพิ่มเติม เพื่อนำ ข้อมูลมาแจ้งความเอาผิดคดีอาญา กับ ประธาน และ บอร์ดบริหาร ของ สหกรณ์บริการจักรเพชร ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางของสมาชิก โดย นาย กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พาตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร เข้าให้ปากคำ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ทั้งนี้ ตำรวจ ได้เร่งให้ผู้เสียหายที่ซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร จำนวน 191 ราย มาให้ปากคำ พร้อมแจ้งข้อหา ภายในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ซึ่งครบกำหนดอายุความของข้อหานี้ นับจากวันที่ 2 พฤษภาคม 2566
นายกิตติศักดิ์ บอกว่า จากที่ก่อนหน้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แจ้งข้อหา “ลวงขายและฉ้อโกงประชาชน” แต่เมื่อพนักงานสอบสวน ได้สอบข้อมูล พร้อมทั้งพยานหลักฐานทั้งหมด ได้พบหลักฐานใหม่ จนอาจสามารถตั้งข้อหา “ยักยอกทรัพย์ “ ซึ่งเป็นการยักยอกทรัพย์ส่วนกลางที่สมาชิกนำมาให้บริหาร แต่กลับยักยอกมาเป็นเงินส่วนตัว จากการตรวจสอบของตำรวจ จนถึง 19 พฤษภาคม 2566 มีเงินกองกลางของสมาชิกเหลือแค่ 2 หมื่นบาท เท่านั้น
ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกด้วยว่า นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากรถตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร ซึ่งมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน บอกว่า ถูกสหกรณ์บริหารจักรเพชร ยักยอกเงินส่วนต่างจากการซื้อตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทรไป ถึง 75,000 บาท จากยอดที่กู้กับธนาคารออมสิน 4 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารออมสิน ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ได้ถูกส่งเรื่องไปที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อปลายปี 2563 ซึ่งขณะนั้น ตำรวจ มีหลักฐานพนักงาน สาขาเยาวราช และ สยามพารากอน ปล่อยกู้ผิดประเภท (ปล่อยสินเชื่อประเภทสินเชื่อธุรกิจห้องแถว) แต่ในที่สุด ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (“บก.ปอศ.") ได้รับ แจ้งจาก ป.ป.ช.แค่ว่า ไม่อยู่อำนาจพิจารณา ตำรวจ จึงสาวไปไม่ถึง
ส่วนแบงก์ออมสิน ต้นสังกัด แม้ผู้บริหาร ทำเรื่องตรวจสอบ แต่กลับให้ สหกรณ์บริการจักรเพชร คัดเลือกตัวแทนคน 5 มาให้ปากคำ แล้วจะเหลืออะไร ! ที่สำคัญ มี 1 ใน 5 คนนั้น ยอมบอกกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ เขาเตี๊ยมผมมาก่อน “
เหตุเกิดตั้งแต่ ปี 2558 แต่จนถึงปี 2567 เป็นเวลา 10 ปี รวมถึง การยื่นร้องไปชั้นกระบวนการยุติธรรม ( ตำรวจ ) ตั้งแต่ปี 2562 ให้จัดการคนผิด แต่..ผู้เสียหายที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาแบบไม่รู้ตัวทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ยังทนทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้น มีหลายคน เสียชีวิตไปแล้ว ทั้ง เป็นโรคตาย , แก่ตาย ล่าสุดเครียดที่ถูกฟ้องถูกยุดทรัพย์จนต้องปลิดชีพตัวเอง แต่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม
ในที่สุด การรอคอยเอาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษก็มีข่าวดี ที่ผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้จับกุม นายสุรชัย ( ไม่เปิดเผยนามสกุล ) อายุ 43 ปี ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบริหารสหกรณ์บริการจักรเพชร ตำแหน่ง “รองประธานกรรมการ” โดยเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” โดยจับได้ที่ จังหวัดนครพนม
พนักงานสอบสวน ระบุว่า สืบเนื่องจากมีกลุ่มผู้เสียหายประมาณ 200 ราย เข้าร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้บริหารสหกรณ์บริการจักรเพชร ฐานดำเนินการเป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิก และ ธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช กับ สยามพารากอน เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน โดยให้สมาชิกสามารถขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อรถสามล้อเครื่อง, ซื้อและซ่อมแซมรถยนต์โดยสารประจำทาง, ซ่อมแซมเรือหางยาว หรือนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยทางสหกรณ์ จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมเงินของสมาชิกเพื่อนำไปชำระสินเชื่อให้กับทางธนาคาร แต่ภายหลังกลับพบว่ามีการบริหารดำเนินการของทางสหกรณ์ โดยนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อให้กับทางธนาคารแทน จนเป็นเหตุทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ส่งผลให้มีสมาชิกจำนวนมากถูกธนาคารฟ้องร้องผิดนัดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าว อีกทั้งสหกรณ์บริการจักรเพชร ยังไม่สามารถจัดซื้อสามล้อเครื่องที่มีเครื่องยนต์ที่มีคุณภาพตรงตามสเปกที่กำหนดไว้ โดยในการดำเนินโครงการในส่วนจัดซื้อรถสามล้อเครื่อง มีสมาชิกสหกรณ์ยื่นขอสินเชื่อกว่า 195 ราย ซึ่งทางสหกรณ์ ได้มีการติดต่อว่าจ้างอู่จำนวนหลายแห่งให้ประกอบรถสามล้อเครื่องแล้วนำมาจำหน่ายให้กับสมาชิก โดยเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องบางรายเบียดบังเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตน ความเสียหายรวมประมาณ 8 ล้านบาท
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นเพื่อสอบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีนี้ โดยจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ผู้จัดการสหกรณ์และกรรมการบริหารสหกรณ์ รวมจำนวน 18 ราย ในความผิดฐาน “เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 353 และความผิดตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 รวมถึงความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในเบื้องต้นมีผู้ต้องหาเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แต่นายสุรชัย ผู้ถูกจับกุมรายนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นกรรมการบริหารสหกรณ์ ในตำแหน่ง “รองประธานกรรมการ” เพิกเฉยต่อคำสั่งของนายทะเบียนที่มีการตรวจสอบและมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์ มีพฤติการณ์หลบหนีไม่มาพบพนักงานสอบสวน คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงได้ขออนุมัติศาลอาญาขอออกหมายจับ ขณะนี้ได้นำตัวส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แต่หวังว่า ความยุติธรรม ที่มีอยู่จริง จะช่วยให้ผู้เสียหาย คดีตุ๊กตุ๊กเอื้ออาทร และ อื่นๆ ได้รับความยุติธรรม อย่าให้ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม เปิดทางสะดวกให้กลุ่มคนที่ร่วมขบวนการทำผิด ลอยนวล ! **
เครดิตเรื่อง :-นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค -กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค