มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

มหากาพย์ ซื้อตุ๊กตุ๊ก แต่ได้คดีอาญา !ตอน1

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 11-04-2024 10:13

หมวดหมู่: การเงิน การธนาคาร

ภาพประกอบข่าว

มหากาพย์ ซื้อตุ๊กตุ๊ก แต่ได้คดีอาญา !

กับ (ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ตอนที่ 1 )

ต้นเรื่อง ‘สามล้อเอื้ออาทร’

ตัวละครหลักส่อฉ้อโกง :

  1. บริษัท สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด

  2. ธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช และ สยามพารากอน

ตัวละครหลักถูกฉ้อโกง-ฟ้องร้อง : ผู้ซื้อตุ๊กตุ๊ก 220 ราย

“ ซื้อรถสามล้อ หวังใช้เป็นพาหนะทำกิน ,จ่ายเงินผ่อนทุกเดือนไม่เคยขาด,แต่กลับได้หนี้, แถม โดนฟ้องคดีอาญา ข้อหา“ ฉ้อโกง เจ้าหนี้ !

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหาเช้ากินค่ำ เมื่อต้องมาเจอ “สัญญาซื้อรถสุดพิสดาร “ ในนาม ‘สามล้อเอื้ออาทร’ หรือ ภาษาชาวบ้าน เรียกกันว่า“ตุ๊กตุ๊ก“นั่นเอง เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2558 แต่จนถึงปี 2567 เป็นเวลา10 ปี ไม่มีความคืบหน้า รวมถึงการยื่นร้องไปชั้นกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) ตั้งแต่ปี 2562 ให้จัดการคนผิด

เรื่องนี้ มีกลโกงที่สุดแสนซับซ้อนซ่อนเงื่อน เพราะมันเป็นการสมคบคิดกัน ระหว่าง แบงก์รัฐ กับ เอกชน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะย้อนไทม์ไลน์ ที่มา-ที่ไป ของเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นประเด็นของเหตุที่เกิดได้อย่างเข้าใจ เพราะมีผู้เสียหาย เฉพาะ ตุ๊กตุ๊ก มากถึง 220 คน

จุดเริ่มของเรื่องเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2558 เมื่อ กรมการขนส่งทางบก เปิดโครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ ให้ สิทธิจดทะเบียน รถสามล้อรับจ้างใหม่ จำนวน 814 คัน โดยคนที่อยากมีรถสามล้อรับจ้างเป็นของตัวเองต้องมาลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิจดทะเบียน

ตัวละครหลักเริ่มมาแล้ว!เมื่อ บริษัท สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ได้ตั้งบูธโฆษณาขายรถสามล้อเครื่อง ที่ กรมการขนส่งทางบก แต่กลับไม่ติดป้ายราคา เมื่อเหยื่อเข้ามาสอบถามจึงบอกแค่ว่า “ราคาต่อคันไม่เกิน 3 แสนบาท

“ปัญหาเกิดเพราะมีการอนุญาตให้สหกรณ์บริการจักรเพชรเพียงรายเดียวมาเปิดบูธโฆษณาขายรถสามล้อเครื่องที่กรมการขนส่งทางบก โดยมีรถสามล้อเครื่องมาโชว์ ไม่มีป้ายราคาบอก เหยื่อสอบถามบอกแต่เพียงว่าไม่เกิน 3 แสนบาท ทำให้กลุ่มผู้เสียหายจองซื้อรถสามล้อเครื่องเป็นจำนวนมากเพราะคิดว่า กรมการขนส่งทางบกเห็นชอบให้เอกชนรายนี้เป็นผู้ดำเนินการ

ปัญหาเกิดตอนนี้ทันที เมื่อผู้เสียหายทำการจองซื้อรถกับ “สหกรณ์บริการจักรเพชร “ ซึ่งเป็นตัวละครแรก , จากนั้น ได้เปิดตัวละครที่ 2 และ 3 นั่นคือ ธนาคารออมสิน 2 สาขา ได้แก่ เยาวราช กับ สยามพารากอน ซึ่งได้รับการติดต่อจาก สหกรณ์บริการจักรเพชร ให้มาทำสัญญาเงินกู้ กับ “กลุ่มผู้เสียหาย “

ประเด็นสัญญาสุดแสนพิสดารอยู่ตรงนี้!

ผู้ซื้อตุ๊กตุ๊กทุกคน ถูกเรียกให้ไปเซ็นสัญญาที่ สหกรณ์บริการจักรเพชร ณ สำนักงานใหญ่ ปากคลองตลาด กรุงเทพฯ อ้าว ! กู้เงินจาก แบงก์ออมสิน แต่กลับไปนั่งเซ็นสัญญาที่อื่น แถม เจ้าหน้าที่แบงก์ ก็มาที่นี่ด้วยน่ะสิ

วิธีการเซ็นก็สุดแสนพิสดาร เพราะใช้วิธีที่เรียกว่า “ ผลัดกันเกาหลัง ” ทำกันยังไงน่ะเหรอ ? ก็ให้คนที่ไม่รู้จักกัน “ ผลัดกันค้ำประกัน “ โดยมี เจ้าหน้าที่สหกรณ์บริการจักรเพชร มานั่งกำกับ อยู่ด้วยทุกครั้ง แล้วก็ใช้วิธีพูดกระตุ้นแบบเร่งๆ ว่า “ เอ้า! รีบๆ เซ็น รีบๆ เซ็น คนอื่นเค้ารออยู่ ทุกคน ก็เลยไม่ได้อ่านข้อสัญญา แต่อย่างว่า กระดาษปึกใหญ่ หนาเท่า A 4 หนึ่งรีม ไม่มีใครอ่านกันหรอก

“เพราะอะไร ? เพราะใช้วิธีสุดมั่วให้ ยุ่งๆ เข้าไว้ จะได้ไม่มีใครจับสังเกต เอกสารปึกหนาขนาดนั้น ทุกคนไม่ได้อ่าน เพราะความไว้ใจ ใครจะไปคิดว่า ระดับแบงก์ออมสิน ถึง 2 สาขา จะร่วมมือ กับ สหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อทำแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จับผิดสังเกต ”

น่าสนใจอีกว่า สหกรณ์บริการจักรเพชร ให้ ตุ๊กตุ๊ก ไปตรวจเครดิตบูโร ซึ่งบางคน ติดแบล็คลิสต์ ก็ให้ญาติมากู้แทน ... แต่ทำไมล่ะ ? แบงก์ออมสิน กลับไฟเขียวให้กู้ได้ทุกคน อ้างว่า พิจารณาจากคุณสมบัติผู้กู้ โดยแต่ละคน ได้รับเงินกู้ไม่เท่ากัน บางคน 3 แสนบาทเศษ บางคนได้มากถึง 5 แสนบาท

คิดดูนะ !คนขับรถตุ๊กตุ๊ก มีรายได้หาเช้ากินค่ำ ทำไม ถึงมีคุณสมบัติกู้ได้หลักหลายแสนบาท ต่อ คน เพราะฉะนั้น สิ่งที่แบงก์ออมสินอ้าง พิจารณาจากคุณสมบัติผู้กู้ มันสวนทางกับการกระทำ วิธีการประหลาดมาก สิ่งที่พูด กับ สิ่งที่ทำ มันขัดกัน แถม ชี้ให้เห็นพิรุธ “เข้าข่ายฉ้อโกง”! หากสหกรณ์บริการจักรเพชร จะช่วย ทำไม ไม่เป็นผู้กู้เสียเอง แล้วให้คนขับตุ๊กตุ๊กมาผ่อน ...มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกต !

จากสิ่งที่เห็น เท่ากับ ผู้เสียหาย 1 คน นอกจากเป็นหนี้แบงก์ออมสิน ยังเป็นหนี้ สหกรณ์บริการจักรเพชร อีก 345,000 บาท ( ราคารถตุ๊กตุ๊ก) ที่แอบสอดไส้ในสัญญาของแบงก์ออมสิน โดยที่ผู้เสียหายไม่รู้เรื่อง รวมกันแล้ว แต่ละคน เฉียดๆ เป็นหนี้เงินกู้ เกือบ 1 ล้านบาท แต่ไม่มีเม็ดเงินเข้ามือเลย

ถ้าใครเซ็นที่สหกรณ์ ฯ ไม่ทัน ก็ให้ไปเซ็นที่ แบงก์ออมสิน ทั้ง 2 สาขาในวันอื่นๆ แล้วแต่ว่าใครทำสัญญากู้ครั้งแรก ที่ไหน

สัญญากู้เงิน ยังสามารถเอาไปเซ็นกันที่ วินรถตุ๊กตุ๊ก ( ข้างถนน ) โดยเจ้าหน้าที่สหกรณ์บริการจักรเพชร เอาไปให้ผู้เสียหาย เซ็น .. ตลกมั้ย !

ผู้เสียหาย บอกว่า บางสัญญาไม่ได้ระบุตัวเลขให้ชัดเจน แต่มาเติมภายหลัง ... แบบนี้ ก็เท่ากับว่า แบงก์ ตี เช็คเปล่า

เมื่อเหยื่อเข้าใจว่า เป็นการกู้ไฟแนนซ์ เพื่อนำเงินมาซื้อรถตุ๊กตุ๊ก แต่ ...กลับไม่เห็นตัวเลขที่เป็นยอดหนี้เงินกู้ ซึ่งผิดปกติอย่างมาก เกิดคำถาม ทำไม?เจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ยอมให้ลูกหนี้ดู

ส่วนลูกหนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่พวกเขาไม่กล้าถาม ด้วยเพราะขาดความรู้ เป็นคนหาเช้ากินค่ำ และด้วยความมั่นใจ ไม่ถูกโกงแน่นอน เพราะ มีชื่อ ธนาคารออมสิน เป็นตัวรับประกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร บอกให้เซ็นชื่อ ตรงจุดไหน จึงทำตามโดยไร้ข้อโต้แย้ง

บอกให้เซ็นทุกคนก็เซ็นโดยดุษฎี ไม่ได้อ่านแม้แต่ตัวอักษรเดียว เพราะเชื่อใจ แบงก์ออมสิน และต้องเข้าใจนะว่า ชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ จึงสามารถอ่านข้อกฏหมาย ในเอกสารเหล่านี้ (อย่าว่าแต่ คนหาเช้ากินค่ำเลย แม้แต่คนที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ยังไม่รู้เรื่องเลย

หลังเซ็นสัญญากู้เงิน ผู้เสียหายได้รับเพียงสมุดบัญชีธนาคาร แต่ไม่ได้รับเงินแม้แต่บาทเดียว รวมถึง สัญญากู้เงิน ส่วน “ทะเบียนรถ “ ฉบับจริง กลับกลายเป็นว่า สหกรณ์บริการจักรเพชร ได้ยึดเก็บไว้เสียเอง

ยัง! ยังไม่จบแค่นี้ เพราะทุกคนถูก สหกรณ์บริการจักรเพชรบังคับต้องเซ็นสัญญากู้เงินก่อน เพราะหากไม่ยอม จะไม่ได้ไปดูรถ

แปลกประหลาดมาก เซ็นสัญญากู้เงินล่วงหน้าโดยยังไม่เห็นรถได้อย่างไร? เพราะตามหลักการเช่าซื้อรถไฟแนนซ์ ต้องได้รถก่อนถึงจะเกิดสัญญากู้เงินแต่สหกรณ์บริการจักรเพชร บังคับกู้เงินก่อน ได้รถทีหลัง... มีผู้เสียหายบางคน เซ็นสัญญากู้เงิน ธันวาคม 2558 แต่ได้รับรถ มีนาคม 2559 เท่ากับเซ็นสัญญากู้ล่วงหน้า 3 เดือน

ในวัน “รับรถสามล้อ “ ที่ สหกรณ์บริการจักรเพชร “ ทาง ผู้เสียหาย แต่ละคน ได้แค่กระดาษสรุปสินเชื่อมาคนละ 1ใบ โดยมียอดหนี้จากเงินกู้ซื้อรถตุ๊กตุ๊ก บวกกับ ค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ฯ รวม 345,000 บาท โดยหนี้ส่วนนี้ ถูกกำหนดยอดให้ชำระ แต่ละงวดเป็น รายสัปดาห์ ภายในจำนวนปี ที่กำหนดไว้

แต่ที่แปลกพิสดารเข้าไปอีก เมื่อผู้เสียหายถูกกำชับต้องนำเงินมาผ่อนชำระค่างวด กับ สหกรณ์บริการจักรเพชร โดยตรง ถ้าหากนำเงินมาผ่อนชำระค่างวดที่ ธนาคารออมสิน สาขาเยาวราช หรือ สาขาสยามพารากอน จะต้องชำระเงินเข้าในชื่อบัญชีของ สหกรณ์บริการจักรเพชร เท่านั้น จากนั้น ให้นำใบชำระเงินของธนาคาร ไปแลกกับ ใบเสร็จ ของ สหกรณ์ ฯ

เดี๋ยวก่อนนะ ! ตามหลักการปกติของการกู้เงินสินเชื่อ หาก นาย ก. กู้เงิน กับ แบงก์ A เมื่อจ่ายหนี้เงินกู้ทุกงวด ก็ต้องโอนเข้าบัญชี แบงก์ A เท่านั้น การลดต้น ลดดอก หรือ ไม่จ่ายเงินกู้ จึง เกิดผล เฉพาะกับ นาย ก. นั่นเพราะ ผู้กู้ มีชื่อ เป็นลูกหนี้ ของผู้ให้กู้

นี่คือปมพีคทำไม!แบงก์ออมสินถึงเอาเงินจากลูกหนี้เงินกู้ที่จ่ายคืน ไปโอนเข้าบัญชี สกรณ์บริการจักรเพชร ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ 3

#ไม่มีใครรู้เลยว่า สหกรณ์บริการจักรเพชร เป็นตัวไปกู้แบงก์ออมสิน ด้วยยอดเงินก้อนทั้งหมด แล้วให้
ผู้ซื้อตุ๊กตุ๊ก เป็นคนจ่ายแทนเท่ากับว่า ได้ยอดเงินกู้ แล้วได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า ปัญหาคือ ผู้เสียหายคิดว่า ตัวเอง ซื้อตุ๊กตุ๊ก โดยมีสหกรณ์บริการจักรเพชร เป็น ONE STOP SERVICE

จากเหตุข้างต้น ทำให้ผู้เสียหายถูกธนาคารออมสินทั้ง2สาขาฟ้องร้อง ฐาน ผิดนัดชำระหนี้ โดยจำนวนเงิน แต่ละคนไม่เท่ากัน ต่ำสุดตั้งแต่3 แสน 5 หมื่นบาท สูงสุด 5 แสนบาท

งง หนัก เข้าไปอีก แต่สัญญาเงินกู้มาแบไต๋ เมื่อปราฏว่าไม่ใช่ การกู้ไฟแนนซ์ เพื่อซื้อรถสามล้อ ตามที่ผู้เสียหายเข้าใจ

แบงก์ออมสิน สาขาเยาวราช กับ สาขาสยามพารากอน แอบลักไก่ ทำสัญญา 3 แบบ เอาเปรียบผู้กู้ ได้แก่

1.สัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค

2.สินเชื่อห้องแถว

3.สินเชื่อองค์กรพัฒนาชุมชน

แต่ความแตก เพราะคำฟ้องที่เป็นเอกสารเขียนไว้ชัด ไม่ใช่การเซ็นซื้อรถตุ๊กๆโดย ธนาคารออมสิน ทั้ง 2 สาขา อ้างว่า ได้ชี้แจงกับผู้เสียแล้วแต่ในความเป็นจริง ไม่เคยมีการชี้แจงใดๆ แถม ยังแอบทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลุ่มผู้เสียหาย ไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน

นี่เป็นแค่ มหากาพย์ตอนแรก ที่ชี้ให้เห็นแผนการส่อเจตนาโกง แล้วความมาแตกเอาตอนไหน ? ก็ตอนที่มีเหยื่อคนแรก ถูกฟ้องต้องขึ้นศาล ด้วยฝีมือของแบงก์ออมสิน และความล่าช้าของคดีที่ผู้กุมอำนาจ ไม่เร่งจัดการเอาคนผิดมาลงโทษ ทั้งที่มีหลักฐานชัดเจน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะพาเจาะให้เห็นเบื้องลึกเบื้องหลังใน มหากาพย์ ซื้อตุ๊กตุ๊ก แต่ได้คดีอาญา !กับ (ความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม ) ตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย วันที่ 12 เมษายน 2567

เครดิตเรื่อง : -นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค -กิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค**


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม