ฉลาดซื้อ จับมือนักวิชาการร่วมยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กอายุ 5-12 ปี ชี้ผลทดสอบหน้ากากอนามัยจำเป็นต้องมีมาตรฐานเฉพาะสำหรับเด็ก พร้อมเร่ง สมอ.ออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 06-07-2022 15:51
หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ
วันนี้ ( วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.ทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลผลักดันการออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็ก เพื่อให้สอดคล้องกับในปี พ.ศ. 2565 ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นวิถีชีวิตปกติสำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็กเล็ก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยจึงมีจำหน่ายทั่วไป หาซื้อได้สะดวกทุกที่ซึ่งสำหรับหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และด้วยสภาพร่างกายของเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ เพื่อให้ระบบการหายใจของเด็กยังคล่องตัว นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น คณะทำงานได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง เมื่อประมาณกลางเดือน กุมภาพันธ์ 2565 โดยทดสอบคุณสมบัติ 2 รายการที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก 2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (ค่าการหายใจได้สะดวก) โดยมีผลการทดสอบ ดังนี้
- ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 3 ยี่ห้อ พบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ
- ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562 สุ่มทดสอบในกลุ่มนี้จำนวน 11 ยี่ห้อ พบว่า ยี่ห้อ Unicharm มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ในส่วนยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare
- ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562 สุ่มทดสอบจำนวน 6 ยี่ห้อ พบว่าทุกยี่ห้อมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค เป็นไปตามเกณฑ์ สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางตามเอกสารแนบ ตารางที่ 3 ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไป )
- การตรวจสอบ เครื่องหมาย มอก. บนผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare
ดร.ไพบูลย์ ยังได้เสนอว่า ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานสำหรับหน้ากากอนามัยเด็กโดยเฉพาะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องการอ่านค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกใช้หน้ากากอนามัยได้อย่างเหมาะสม
อ.ชัยภวิศร์ ธวัชชัยนันท์ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าสูง มาตรฐานที่มีอาจดูแลเด็กได้ไม่เพียงพอ และปัจจุบันยังปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เด็กมีภาวะภูมิแพ้มากขึ้น หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กจะช่วยป้องกันได้หากมาร่วมมือกันจัดทำแนวทางเพื่อยกระดับมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กให้ชัดเจน
“หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ปัจจุบันคนที่ขาดแคลนอาจจะไม่ได้ใช้ครั้งเดียว ใช้แล้วทิ้ง จึงยิ่งมีความเสี่ยง และเราจะให้ทางเลือกแก่สังคมอย่างไร เราปลูกฝังเด็ก สร้างพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสม แต่ถ้าใส่แล้วหายใจลำบาก เราใส่แล้วเราก็จะถอดๆ แล้วมันจะไม่เกิดประโยชน์”
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ประสานความร่วมมือกันเพียงพอ การทำงานหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม( สมอ.) ยังเป็นการกำกับติดตามผู้ผลิตแค่บางส่วนแต่เมื่อสินค้าวางสู่ตลาด และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายังกำกับติดตามไม่ทั่วถึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสินค้าที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน การยกระดับคุณภาพหน้ากากอนามัยให้มีมาตรฐานจึงต้องเป็นความร่วมมือกัน
“เรื่องหน้ากากอนามัยเด็ก ค่าความต่างแรงดัน (ระดับการหายใจใด้ง่าย) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะสรีระของเด็กมีความแตกต่าง และมาตรฐานเฉพาะสำหรับเด็กยังไม่มีความชัดเจน ระหว่างที่ยังไม่มีการออกมาตรฐานโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาควรจะต้องเข้ามากำกับดูแลฉลากให้มีความชัดเจนที่ควรระบุทั้งค่าประสิทธิภาพการกรองอนุภาค และค่าความต่างแรงดัน เพราะปัจจุบัน หน้ากากอนามัยเด็กยังมีการใช้ข้อความที่ส่อให้เข้าใจผิด”
ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท นักวิชาการด้านสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การควบคุมมาตรฐานสินค้าชนิดนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและร่วมกันผลักดัน เพราะนอกจากภัยจากโรคระบาดแล้วยังมีปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการปกป้อง การทำให้เด็กทุกคนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงหน้ากากป้องกันที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เป็นทั้งเรื่องความเป็นธรรมและความมั่นคงของชาติที่จะมีคนในอนาคตที่มีสุขภาพดี”
ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านได้ร่วมกันให้ข้อเสนอเพื่อเป็นข้อมูลผลักดันการออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็ก ตั้งแต่อายุ 5-12 ปี มีดังนี้
- สนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) เร่งออกมาตรฐานบังคับสำหรับผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว ซึ่งครอบคลุมถึงหน้ากากสำหรับเด็กเล็กด้วยและควรมีบทกำหนดโทษ ในกรณีที่ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืนและละเมิดสิทธิผู้บริโภค
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ควรดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุ 5-12 ปี
- สภาองค์กรของผู้บริโภคควรเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยให้ตรวจสอบและรายงานประจำปีต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อการถูกละเมิดสิทธิของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวสำหรับเด็ก
- เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ควรมีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็กเล็ก
- เสนอให้มีความร่วมมือในการทำงานระหว่าง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(สมอ.) กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่ปัจจุบันยังมีช่องว่างในการทำหน้าที่เฝ้าระวังสินค้าของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยให้เรื่องการเฝ้าระวังมาตรฐานหน้ากากอนามัยเด็กเป็น โมเดลการทำงานร่วมกัน เรื่อง post marketing ที่ทั้ง อย. สมอ. สคบ. และ สภาองค์กรของผู้บริโภค มาเป็นคณะทำงานร่วมกัน
- เสนอ อย.กำกับดูแลเรื่องฉลากให้ระบุไม่เกินความเป็นจริง หากระบุตัวผลิตภัณฑ์ว่าเป็นหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก ต้องมีการระบุคุณสมบัติเฉพาะสำหรับเด็ก (การระบุค่าทดสอบ : ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค กับ ค่าผลต่างความดัน Delta P)
สำหรับรายละเอียดผลการทดสอบหน้ากากอนามัยเด็ก อ่านต่อได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/4023