มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง ...ถูกหลอกให้ดาวน์รถ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 03-05-2024 15:14

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

เหตุนี้ ! มีเรื่อง ...ถูกหลอกให้ดาวน์รถ

เป็นเหตุเตือนภัย !"อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจ ( คนอื่น ) จะจนใจ ( เรา) เอง" ยังไงน่ะเหรอ ? นั่นเพราะเรื่องนี้ชาวบ้านถูกหลอกแบบมีเงื่อนงำทำให้หลงเชื่อ จนตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดายน่ะสิ !

แล้วถูกหลอกยังไง ? มาๆ จะให้เล่าให้ฟัง... วิธีการหลอกลวงของมิจฉาชีพแก๊งนี้ ทำงานเป็นขบวนการ แบ่งงานกันไปทำแต่ละหน้าที่ ตัวการแรก เป็นทั้ง "นายทุนเงินกู้ " และยังเป็น "นายหน้า" เอาเงินหลักหมื่น มาล่อให้เป็นค่าดำเนินการ และ ค่าเสียเวลา โดยหากดาวน์รถ 1 คัน บางคนได้ 1.5 หมื่น / 2 หมื่น / 2.5 หมื่น (ไม่รู้คิดจากอะไร )

แต่ที่สำคัญ เหยื่อหลายราย เป็นหนี้เงินกู้นอกระบบของนายทุนรายนี้ จึงได้ลูกเล่นของเงื่อนไขที่ปฏิเสธไม่ลง "ไปดาวน์รถกับฉันสิ ได้ค่าดำเนินการหลักหมื่นต่อรถ 1 คัน ช่วยตัดหนี้บางส่วนได้นะ ถ้ายอดหนี้มีน้อยก็มาปิดหนี้ได้เลย! " คนที่อยากปลดหนี้เขาก็เลยกระโจนเข้าหลุมพรางนี้

แล้วทำไม ชาวบ้านถึงยอมแบบว่าง่ายขนาดนั้น คืองี้ แก๊งมิจฉาชีพ ชี้ชวนว่า ถ้าได้รถมาแล้ว ฉันขอเอาไปให้ฝรั่งเช่า แล้วจะนำค่าเช่าเนี่ยไปผ่อนกับไฟแนนซ์ พอครบ6 เดือน เธอ( ชาวบ้าน ) ต้องโอนรถให้มาเป็นชื่อของฉันนะ (นายทุนมิจฉาชีพ ) ไม่มีภาระและพันธะผูกพันใด ๆ จบๆ กันไป

มันได้เหรอ ถามจริง ผ่อนรถ 6 เดือน โดยที่เจ้าของรถไม่ได้ดำเนินการใดๆ กับ ไฟแนนซ์ แถมไม่มีหลักฐานการผ่อนค่างวดรถ แล้วไอ้ที่นายทุนอ้างว่าจะเป็นคนผ่อนค่างวดรถทุกเดือนจนครบ 6 เดือน เชื่อถือได้ยังไงอ้ะ ( ทว่า เหยื่อเชื่ออย่างสนิทใจ ) แต่ที่แน่ๆ รถหายวับไปพร้อมแก๊งมิจฉาชีพตั้งแต่วันเซ็นสัญญาเช่าซื้อน่ะสิ! แล้วก็เกิดเรื่องจนได้ เพราะเมื่อครบกำหนด 6 เดือน กลับมีบริษัทไฟแนนซ์มาทวงเงินค่าผ่อนรถที่ค้างไว้หลายเดือน

งานนี้ มีผู้เสียหายเกือบ 30 คน( ส่วนมากเป็นเกษตรกร ) ที่มาร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดราชบุรี รวมถึงสื่อมวลชน (แล้วที่ไม่กล้าร้องเรียนล่ะ คาดว่าน่าจะมีอีกมาก เพราะบางคนไม่กล้าแจ้งความ) แต่ละคนถูกแก๊งมิจฉาชีพ ชักชวนไปดาวน์รถ แถมบางคนภายในเวลาแค่ 1 เดือน สามารถออกรถได้ถึง 3 คัน เหตุการณ์ที่เล่าให้ฟังนี้ เกิดขึ้นที่ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี**

กลุ่มผู้เสียหาย เล่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์และฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟังว่าหลายคนที่ถูกหลอกมักเริ่มจากเป็นหนี้กับ "เบลล์ ที่เป็นเจ้าแม่เงินกู้และยังเป็นนายหน้าในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ได้ชักชวนชาวบ้านให้ไปดาวน์รถกระบะมือสอง เพื่อนำไปให้ฝรั่งเช่าในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและภูเก็ต โดยมี"นุ่น ลูกน้องของเบลล์เป็น "หน้าม้า "ทำตัวเหมือนเป็นกองหนุนร่วมชักชวน ทำให้เกิดความเชื่อใจ คิดว่าการทำแบบนี้จะทำให้เครดิตดี สามารถที่จะไปขอสินเชื่อที่ไหนก็ได้ คิดว่าไม่มีความเสียหายอะไรตามมา เพราะมีการตรวจเครดิตบูโรด้วย จึงหลงเชื่อและยอมไปเซ็นสัญญาเช่าซื้อรถ ตอนนั้นเดือนกันยายน 2566 ก็แปลกใจเหมือนกันเพราะไม่เคยได้รับโทรศัพท์จากไฟแนนซ์เลย พอครบ 6 เดือน คือ กุมภาพันธ์ 2567 มีไฟแนนซ์ มาตามทวงหนี้ที่บ้าน ส่วนนายหน้า กับ หน้าม้า หายตัวไปทั้งคู่ติดต่อไม่ได้

"ผู้เสียหายรายนี้ เล่าว่า รู้จักนายทุน-นายหน้าคนนี้แค่ชื่อเล่น คือ "เบลล์" ที่ต้องไปกู้เงินเพราะมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ได้เงินแค่วันละ 300 บาท ไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว เมื่อเงินหมุนไม่ทันใช้หนี้ จู่ๆ วันหนึ่งก็ได้รับการติดต่อจาก "นุ่น" ที่เป็นคนของเบลล์ มาชักชวนให้ไปดาวน์รถ มีเงินตอบแทนให้ด้วย ได้คันละ 2 หมื่น พอได้ข้อเสนอแบบนี้ ไอ้เราก็สนใจมากๆ เลย แล้วก็เชื่อว่าไม่ถูกหลอกแน่นอน เพราะนุ่น บอกว่าครอบครัวของเขาทุกคนก็ทำกันหมด แล้ววันดาวน์รถก็มาถึง ผู้เสียหาย เล่าว่า ไม่ได้เตรียมเอกสารอะไรไปเลย เพราะทางนายหน้าจัดการให้หมดทุกอย่าง ตอนนั้นไม่ทันฉุกคิดว่าไปเอามาได้ยังไง พอมีเอกสารมาให้ก็เซ็นชื่อทันทีโดยที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาในข้อสัญญาเช่าซื้อ!

"ไม่ได้เป็นหนี้เงินกู้ แค่อยากได้เครดิต! " ...นี่เป็นเรื่องราวของผู้เสียหายที่เล่าว่า "หนูไม่ได้ติดหนี้ พอคนชื่อนุ่น ซึ่งรู้จักกัน มาชวนจึงไม่คิดว่าจะมาหลอก แถม บอกว่า ครอบครัวเขาทุกคนยังทำ ก็เลยเชื่อใจ แล้วเห็นตัวอย่างแถวบ้านทำกับนุ่นหลายคน พอมาชักชวนให้ไปเช่าซื้อรถ เพราะจะได้เครดิต แถมได้เงินหลักหลายหมื่นด้วย หนูสนใจทันที แถมได้ดาวน์รถถึง 3 คัน ภายในเวลาแค่ 1 เดือน โดยทำสัญญาเช่าซื้อจาก 3ธนาคาร นุ่นยังออกปากชมหนูว่า เป็นคนเครดิตดีนะเนี่ย จำเหตุการณ์ได้เลยช่วงนั้นปลายเดือน มิถุนายน คาบเกี่ยว กรกฎาคม 2566 ตอนทำสัญญาเร็วมากไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เสร็จ ส่วนคนค้ำประกัน ทางเบลล์ จะหามาให้ ตอนไปทำสัญญาเจอเป็นผู้ชาย แต่ไม่รู้จักมาก่อน เป็นคนค้ำให้ 1 คัน จาก 3 คัน แต่อีก 2 คัน ไม่ต้องมีคนค้ำ เขา ( ใครก็ไม่รู้ ) บอกว่า เครดิตของหนูดี ส่วนรถทางเบลล์ได้เอารถไปเลยหลังเซ็นสัญญาเสร็จ บอกว่า จะเอาไปให้ฝรั่งที่พัทยาเช่า ขอให้สบายใจได้ ไม่ต้องห่วง ในช่วง 6 เดือนจะเอาค่าเช่ามาจ่ายหนี้ไฟแนนซ์ให้ แต่พอครบ 6 เดือน ต้องโอนรถมาเป็นชื่อเบลล์นะ แต่หนูสิ ตอนนี้ ถูกใบแจ้งหนี้ไม่ได้จ่ายเงินไฟแนนซ์มา 4 เดือนแล้ว ตอนที่เซ็นสัญญา หนูให้แค่ สำเนาบัตรประชาชนกับทะเบียนบ้านเท่านั้น ส่วนเอกสารอื่นๆ หนู ไม่รู้ เพราะไปถึงเต็นท์รถ ก็เซ็นอย่างเดียว ไม่ได้อ่านเอกสารด้วย ทำสัญญาไม่ถึง 1 ชั่วโมง หนูได้แค่เงินค่าดำเนินการ มาคันละ 2 หมื่น แถมค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง เบลล์ออกให้ทั้งหมด ไม่คิดเลยว่าจะต้องมาเจอเรื่องทุกข์ร้อนแบบนี้ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟัง จึงถามว่า ทำไมถึงเชื่อคนชวนง่ายดายขนาดนั้น เจ้าตัวบอกว่า "ที่หนูเชื่อนุ่น เพราะบอกว่าครอบครัวเขาก็ทำเหมือนกัน ตอนหลังช่วงเกิดเรื่อง ก็เลยได้รู้ว่า พ่อของนุ่น โดนหมายศาล เพราะค้างผ่อนค่างวดรถ สรุปคือนุ่นโดนหลอก เหมือนกัน เพราะถูกเบลล์ ให้มาชวนคนรู้จัก เจ้าตัวก็ไม่คิดว่า จะมีปัญหาอะไร หนูมีข้อสังเกตด้วยนะ คนที่ถูกเบลล์กับนุ่นพาไปดาวน์รถ เป็นเต็นท์ที่อยู่นอกพื้นที่ราชบุรีทั้งสิ้น เช่น อุดรธานี อ่างทอง

มาฟังอีกรายที่เป็นผู้เสียหาย เล่าว่า หนูไม่รู้เรื่องเขาไปจองรถกันยังไง แต่พอได้เอกสารจากนุ่นถึงรู้ว่า เบลล์ โอนเงิน1,000 บาท เป็นค่าจองรถ 2 คัน เอกสารที่เป็นหลักฐานนี้ หนูปริ้นท์ไว้แล้ว ส่วนเงินค่าดำเนินการดาวน์รถได้มา 4 หมื่น หลังทำสัญญาเสร็จ แต่ไม่รู้ตัวเลขหนี้สัญญาเช่าซื้อรถกับไฟแนนซ์ เพราะไม่ได้อ่านเอกสารเลย เซ็นชื่ออย่างเดียว แถม เอกสารทั้งหมดเบลล์เป็นคนเอาไปหลังทำสัญญาเสร็จ ดีที่ตอนนี้ยังไม่มีใบแจ้งหนี้จากไฟแนนซ์ มีแต่หลักฐานที่คุยผ่านแชท และ ที่นุ่นโทรมาสรุปยอดแต่ละเดือน เมื่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถามว่า ดาวน์รถคันแรก ยังมีปัญหา แล้วทำไม ถึงยอมไปเซ็นรับรถคันที่ 2 ผู้เสียหาย ยอมรับว่า “พูดตรงๆเลยนะ หนูก็ งง กับ ตัวเอง ! แถม ตอนไปกู้เงินกับเบลล์ก็ไม่ได้อ่านสัญญา เพราะเซ็นชื่ออย่างเดียว ตอนนี้ พวกนั้นรู้ตัวกันหมดแล้ว ครั้นจะไปตะล่อมขอเอกสารคืนเพื่อเอามาเป็นหลัฐานคงไม่มีทาง เพราะหลังมีสื่อรายงานข่าวหนูก็ถูกนายหน้าคือเบลล์ กับ เต็นท์รถมือสองโทรศัพ์มาต่อว่าอย่างรุนแรง แต่รู้มาว่า ตำรวจ สแกนหน้าได้หมดทุกคน ประมาณ 5 คน ในกลุ่มที่ทำเรื่องดาวน์รถ น่าจะได้จากโทรศัพท์ของนุ่น ที่ยึดเอาไว้ พอตำรวจไปบ้านเบลล์ เห็นติดป้ายรอบบ้านว่า หมาดุ ห้ามเข้า ส่วนที่ว่า ทำไมไม่บอกให้ไฟแนนซ์เลิกทวงหนี้เช่าซื้อรถเพราะคดีกำลังดำเนินอยู่ขอให้ไปที่ศาลพร้อมกัน ทางไฟแนนซ์ ท้าว่า... "พี่ส่งหมายศาลมาเลย แถม ขู่ว่า “ ต้องติดคุกตามจำนวนหนี้ที่ติดไฟแนนซ์ “ ทำเอาหนูเครียดมาก

อีกราย เล่าเสริมว่า เป็นลูกหนี้เงินกู้ของเบลล์ จากนั้นถูกชวนดาวน์รถได้ค่าดำเนินการ 2 หมื่น ปิดหนี้ได้เลย เราก็สนใจจึงไปทำตามคำชักชวน ได้เช่าซื้อเป็นป้ายแดง 1 คัน ที่หลุดดาวน์ ตอนทำสัญญาเสร็จ กลุ่มนี้จะไม่ยอมให้ใครเห็นว่าเอารถที่เราดาวน์ไปให้ใคร แล้วก็ปักใจเชื่อด้วยว่า ถูกปลอมเอกสารแน่นอน เพราะหนูไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคาร แต่เบลล์พูดเอง จะไปแต่งบัญชีให้ ตอนนี้หนูโดนไฟแนนซ์ทวงหนี้มา 3 งวดแล้ว แล้วพอไปแจ้งความกับตำรวจว่าโดนหลอก กลับถูกตำรวจขู่ว่าอาจโดนข้อหา “สมรู้ร่วมคิด “ เพราะ "แจ้งจับตัวเอง" หนูทั้งกลัวทั้ง งงน่ะ แล้วก็รู้มาว่ามีหลายคนที่ไปแจ้งความก็โดนขู่แบบนี้เหมือนกัน

หลังจากได้ฟังเรื่อราวของผู้เสียหายทั้งหมด นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมถึง ฝ่ายกฏหมาย ได้ร่วมกันตั้งข้อสังเกตที่ผิดปกติ และ แนวทางให้คำแนะนำกับ ผู้เสียหาย

1.ต้องเร่งไปแจ้งความ “ข้อหาฉ้อโกง" เพื่อหยุดขบวนการนี้ เพราะไม่ใช่คนๆ เดียว ที่จะทำเรื่องนี้ได้ เห็นชัดเจนจากการกู้ไฟแนนซ์เพื่อเช่าซื้อรถ เช่น คันแรก กู้ 4 แสนบาท ไม่มีทางที่คันที่ 2 จะกู้ได้อีก หากไม่มีทรัพย์สิน หรือ รายได้มากพอ ที่จะไปผ่อนชำระ จึงทำให้เชื่อได้ว่า หากเช่าซื้อรถคันที่ 2 ผ่าน ทางแก๊งน่าจะทำอะไรบางอย่างกับเอกสารที่ผู้เสียหายไปเซ็นเอาไว้โดยไม่ได้อ่าน อันนี้คือ "เจตนา" ถือเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายยอมความไม่ได้ เพราะได้รับความเสียหาย เพราะ"รถ" ไม่ได้อยู่ที่ผู้เช่าซื้อทุกคน แต่กลับไปอยู่ที่"เบลล์" ( ส่วนการตีประเด็น ฉ้อโกง หรือไม่ เป็นเรื่องของตำรวจ จะพิจารณา )

2.ประเด็นที่มีผู้เสียหายบางรายไปแจ้งความกับตำรวจ กลับจะถูกตั้งข้อหา “สมรู้ร่วมคิด “ เพราะส่อ "แจ้งจับตัวเอง" ถ้าดูจากสถานการณ์ที่ผ่านมา ก็ถือว่ามีส่วน แต่ต้องถามว่า ผู้เสียหายจงใจ และมีเจตนากระทำเรื่องแบบนั้น หรือไม่ ซึ่งการสมรู้ร่วมคิด หมายถึง จงใจปลอมแปลงเอกสารทั้งหมด แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ย่อมไม่ใช่แน่นอน เพราะมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่ละคน“ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ " ไม่ได้เป็นคนมีส่วนร่วมในการปลอมแปลงเอกสาร แถม รถยนต์ หายไปไหน ก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้น ต้องให้การกับตำรวจ ตามข้อเท็จจริง แต่มีปัญหาจะแจ้งฉ้อโกง ไม่ได้ เพราะไม่รู้เลยว่า เขาได้ทรัพย์จากเรายังไง เพราะเราต่างหาก ที่ได้เงินค่าดำเนินการเช่าซื้อรถ

3.องค์ประกอบที่ผู้เสียหายต้องมีให้ครบก่อนไปแจ้งความกับตำรวจ เช่น เหตุการณ์ที่ถูกชวนเข้าไปทำสัญญา ควรทำเป็นเอกสารเล่าลำดับเหตุการณ์ โดยเฉาะการที่เบลล์ กับ นุ่น มีเจตนา หลอกลวงให้ไปเช่าซื้อรถ แต่กลับเอารถของเราไปครอบครองแล้วหายตัวไปเลย

4.หลักฐานแชท ที่คุยกับแก๊งหลอกดาวน์รถ ต้องปริ้นท์ไปให้ตำรวจเพื่อแจ้งความ และให้ปากคำ เพราะผู้เสียหายไม่รู้เลยว่า หลักฐานสัญญาเช่าซื้อรถที่เบลล์เอาไปเก็บไว้เอง จะเอาไปทำอะไร อันนี้คือประเด็นสำคัญที่สุด เช่น เอาไปแก้ตัวเลขยอดหนี้หรือเปล่า

5.หากผู้เสียหาย เซ็นเฉพาะสัญญาเช่าซื้อ แต่ สำเนาบัตรประชาชนตัวเจ้าของไม่ได้เซ็นรับรอง แต่กลับมีลายเซ็น นั่นแสดงว่า ถูกปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสาสรปลอม ดังนั้น สามารถนำเรื่องนี้แจ้งความกับตำรวจเพื่อเอาผิดกับคนที่ก่อการ

6. การที่ไฟแนนซ์ ขู่ผู้เสียหายว่า“ ต้องติดคุกตามจำนวนหนี้ที่ติดไฟแนนซ์ “ เรื่องนี้ไม่ใช่แน่นอน เพราะสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็น “ คดีแพ่ง” แต่หาก “เข้าข่ายมีเจตนาฉ้อโกง” หรือ หลอกลวง ก็อาจเป็นคดีอาญา ดังนั้น หากผู้เสียหาย ไม่มีเจตนาหลอกลวง แต่ ถูกบางคนมาเสนอผลประโยชน์ ตอบแทน คันละ 2 หมื่น จึงไม่ทันฉุกคิดไปถึงผลกระทบที่จะย้อนกลับมา เพราะผู้เสียหาย ไม่เคยตั้งคำถามนี้กับเบลล์ หรือ นุ่น หากในช่วง 6 เดือน ทั้งคู่ไม่ยอมผ่อนค่างวดรถ จะเกิดอะไรขึ้น ?

7. สำคัญมากๆ ผู้เสียหายต้องไปขอคัดสำเนาคู่สัญญาที่เป็นหนี้กับไฟแนนซ์ คราวนี้ละจะได้รู้เลยว่า เป็นหนี้อยู่เท่าไหร่ มีเอกสารอะไรบ้างที่เราถูกปลอมแปลง เรื่องนี้ผู้เซ็นต้องไปดำเนินการเองนะ เพราะเป็นเอกสารส่วนบุคคล แต่หากเกิดปัญหาทางไฟแนนซ์ไม่ยอมให้คัดสำเนาเรามีสิทธิ์ไปแจ้งตำรวจในท้องที่ขอให้ออกหนังสือไปยื่นไฟแนนซ์เพื่อบีบให้ดำเนินการ

8.ต้องไปตรวจเครดิตบูโร จะได้รู้เครดิตของผู้เสียหายทำไมถึงมีเครดิตออกรถได้หลายคัน ถึงแม้บางคนออกได้ 1 คันก็เถอะ เพราะต้องอย่าลืมว่าผู้เสียหายยอมรับเองไม่มีเงินเดินบัญชี ไม่มีรายได้เป็นหลักแหล่ง เพราะทำอาชีพรับจ้างรายวัน บางคนเป็นเกษตรกร รายได้จึงไม่คงที่ คราวนี้ละจะได้รู้ทันทีถ้าเครดิตผู้เสียหายไม่มีศักยภาพดาวน์รถ นั่นเท่ากับแก๊งมิจฉาชีพปลอมแปลงเครดิตของผู้เสียหาย ( แต่ก็น่าสงสัยอีกประเด็น ทำไมไฟแนนซ์ถึงไม่สอบทานข้อมูล แล้วทำไมถึงยอมให้ผู้เสียหายดาวน์รถได้ตั้งหลายคันน่าคิดนะ! )

ถ้าต้องการตรวจเครดิตบูโร ให้ไปที่แบงก์ใกล้บ้าน และอีกหลายช่องทางที่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้ทำเว็บไซต์แจ้งรายละเอียด https://www.ncb.co.th/check-your-credit-bureau/where-to-check-credit-bureau/

เอาละ! จากเหตุการณ์นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หวังว่าจะเป็นบทเรียนให้กับหลายๆ คนได้รู้เท่าทันมิจฉาชีพกลุ่มนี้ที่หลอกเหยื่อไปดาวน์รถโดยเอาค่าตอบแทนหลักหมื่นมาล่อ ส่วนผู้เสียหายที่มาร้องเรียนขอให้ดำเนินการตามคำแนะนำนี้อย่างเร่งด่วน หากมีปัญหาติดขัดสามารถมาขอความช่วยเหลือให้ดำเนินการทั้งเอกสารและข้อกฎหมาย

ช่องทางติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400, โทรศัพท์ 02 248 3734 ถึง 37, แฟกซ์ 02 248 3733, อีเมล complaint@consumerthai.org.


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม