มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

องค์กรภาคประชาชน แฉ 6 ข้อเท็จจริงสำคัญ พร้อมข้อสังเกต "กากแคดเมียม"

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 09-04-2024 16:57

หมวดหมู่: พลังงานและสิ่งแวดล้อม

ภาพประกอบข่าว

องค์กรภาคประชาชน แฉ 6 ข้อเท็จจริงสำคัญ พร้อมข้อสังเกต "กากแคดเมียม" ขนย้ายจากจังหวัดตาก มายัง จังหวัดสมุทรสาคร ชี้ ถึงเวลาต้องแก้ปัญหาแบบใช้ปัญญา

ท่ามกลางฝุ่นตลบกรณีกากแคดเมียมและปัญหาต่อเนื่องที่โผล่ขึ้นมารายวัน จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวิ่งวุ่นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มูลนิธิบูรณะนิเวศซึ่งติดตามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ มีประเด็นข้อเท็จจริงสำคัญและข้อสังเกตเกี่ยวกับปมปัญหาหลักที่อยากปักหมุดแบ่งปันให้สังคมรับรู้ร่วมกัน รวมถึงมีข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาแบบที่ไม่ใช่การวิ่งไล่ตามแก้ปัญหาแบบปัดไปข้างหน้าหรือซุกเข้าใต้พรม . ดังนั้น วันนี้ (9 เม.ย 67 ) เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และดาวัลย์ จันทรหัสดี เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม จึงร่วมกันแถลงข้อเท็จและข้อเสนอแนะ เรื่อง "กากแคดเมียม แค่ปิดโรงงาน/ปิดพื้นที่/ขนย้าย เรื่องไม่จบ ถึงเวลาแก้ปัญหาแบบใช้ปัญญา" พร้อมตั้งข้อสังเกตุ เหตุใดกากแคดเมียมถึงต้องเคลื่อนย้ายจากจังหวัดตากไปซุกไว้ที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วกลุ่มทุนใดที่อยู่เบื้องหลัง ! ซึ่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่ามันคืออันตรายที่เป็นมหันตภัยที่ทำลายคุณภาพชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อม จึงขอนำข้อมูลที่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จัดทำ 6 ข้อเท็จจริงสำคัญพร้อมข้อสังเกต มาเปิดเผยต่อสาธารณชน

1. เหตุใดจึงต้องขุดและขนกากที่กำจัดแล้วออกจากหลุมฝังกลบ จ. ตาก มายัง จ. สมุทรสาคร นั่นเพราะ มีผลประโยชน์จากการใช้ประโยชน์กากของเสียให้คุ้มค่าที่สุด กากแคดเมียมพิษร้ายแต่มีค่าทางธุรกิจตอบสนองนโยบายเหมืองแร่จาก “วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” และนโยบาย BCG ขั้นตอนการเปลี่ยนนิยามจาก “กากอันตราย” เป็น “วัสดุที่ไม่ใช้แล้ว” เพื่อ เป็นวัตถุดิบในโรงงานหล่อหลอม/รีไซเคิล ช่องลอด/ทางรอดของกฎหมายไทย EIA ไม่มีการติดตาม-ลงโทษได้ยาก อนุมัติการขนย้ายกากทำง่ายตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โรงหล่อหลอมไม่ต้องทำ EIA/EHIA/มาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษ ที่สำคัญข้าราชการไทย “เกรง” อิทธิพลเอกชน และกลัวถูกฟ้องคดี

2. การเตรียมการณ์ก่อนขุด-ขนย้าย-หลอม ก่อนปรากฏเป็นข่าว มีข้อมูล “บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ “ ได้รับอนุญาตขุด-ขนย้ายกาก เมื่อ 29 มิ.ย. 66 และเริ่มขนย้าย ก.ค. 66 ขนย้ายเที่ยวสุดท้ายออกจากพื้นที่ เมื่อ 8 ม.ค. 67 รวมปริมาณ13,832.10 ตัน รวมเวลาขนย้ายกว่า 8 เดือน

3. เจ แอนด์ บีฯ ไม่สามารถรองรับกากทั้งหมด-กระจายต่อโรงงานอื่น นั่นเพราะ โรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซ. กองพนันพล ถ. เอกชัย ต. บางน้ำจืด อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ประกอบกิจการในสมุทรสาครประมาณ 30 ปี มีใบอนุญาต (รง.4) 3 ใบ

-26 เม.ย. 37 หล่อและหลอมโลหะ

-26 ธ.ค. 57 หลอมอลูมิเนียมแท่ง อลูมิเนียมจากเศษอลูมิเนียมและตะกรันอลูมิเนียม

-21 เม.ย. 66 หลอมสังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอยและโลหะแคดเมียม (แต่ ณ

-4 มี.ค. 67 ไม่พบว่ามีการแจ้งประกอบกิจการต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร) การไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ จะไม่มีการตรวจสอบว่าบริษัทแห่งนี้มีความสามารถในการหล่อหลอมกากแคดเมียมได้หรือไม่ ดังนั้นในทางกฎหมายบริษัทนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้

4. กากแคดเมียมทั้งหมดคือเท่าไหร่และกระจัดกระจายไปที่ไหน ข้อสังเกต: กากแคดเมียมถูกขนย้ายเที่ยวสุดท้ายออกจากพื้นที่จังหวัดตาก เมื่อ 8 ม.ค. 67 รวมปริมาณ 13,832.10 ตัน กากแคดเมียมเข้ามาที่บ.เจ แอนด์ บีฯ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 67 หรือไม่ แต่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อ เม.ย. 67 ปริมาณที่ตรวจพบคือ 2,400 ตันเศษ พบที่ต. คลองกิ่ว ชลบุรี 3,000-7,000 ตัน พบที่แห่งอื่นใน ต.บางน้ำจืด1,034 ตัน ทำไมจึงปล่อยให้มีการส่งต่อกากอันตรายจาก บ.เจ แอนด์ บีฯ ได้อย่างสะดวก บริษัทอื่นๆ ที่เป็นผู้รับกากเท่ากับกระทำผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย

5. เบาด์ แอนด์ บียอนด์: ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบผลกระทบทั้งหมด ได้รับอนุญาตให้นำ "สิ่งปฏิกูลวัสดุไม่ใช้แล้ว" ออกนอกบริเวณโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่งไปยัง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ในนามผู้รับบำบัด เมื่อ 29 มิ.ย. 66 อายุของการอนุญาตคือ ระหว่างวันที่ 10 ก.ค. 66 - 9 ก.ค. 67 ในกรณีนี้ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ คือ เจ้าของกากอันตราย หรือ ผู้ก่อมลพิษ ทางบริษัทต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการขุดและการขนย้ายกากแคดเมียมจากต้นทางถึงปลายทางทุกจุดที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนค่าใช้จ่ายของทุกหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา

6. ภาพสะท้อนความล้มเหลวของระบบการบริหาร-จัดการกากอุตสาหกรรม

-อุตสาหกรรมจังหวัดมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลเรื่องกากอันตรายหรือไม่ และเปิดทางสู่การทุจริตหรือไม่ ??

-ระบบที่เน้นเพียงความรวดเร็วก่อให้เกิดความหละหลวม ความโปร่งใส และทิ้งความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ??

ข้อเสนอต่อกรณีกากแคดเมียม กรณีกากแคดเมียมของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 13,832.10 ตัน ให้ดำเนินการตามลำดับความเร่งด่วน ดังนี้

-สนับสนุนการติดตามตรวจสอบให้ชัดเจนและครบถ้วน ว่ากากแคดเมียมทั้งหมดกระจายไปอยู่ในพื้นที่ใด เท่าไร ในสภาพใด ในกรณีที่ยังคงอยู่ในถุงบิ๊กแบก ให้ดำเนินการประกาศและวางมาตรการป้องกันการแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม และ/หรือโอกาสที่คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ จะรับสัมผัส ติดตามเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าว แต่หากพบว่ามีส่วนใดที่หลอมไปแล้ว ให้ติดตามเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดการหลอมกากแคดเมียมนั้น

-ตรวจสอบกระบวนการดำเนินการที่เกิดขึ้นตลอดเส้นทาง ทั้งในประเด็นด้านกฎหมาย หลักวิชาการ และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกรณีนี้ และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด และติดตามความรับผิดชอบจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) การรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา

ข้อเสนอเชิงระบบและนโยบาย

-ทบทวนและปรับโครงการสร้างการบริหารจัดกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ยอมรับความล้มเหลวและช่องโหว่ของระบบในปัจจุบัน ที่เน้นอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่ภาคเอกชน/โรงงานในการขนย้าย/กำจัดกาก

-ระงับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลประเภทต่างๆ เพิ่มเติม โดยเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการส่งเสริมการทำเหมืองจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และ BCG โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายในการจัดการสิ่งแวดล้อม มาตรฐานกำกับดูแลการปล่อยมลพิษ การพัฒนาความเชี่ยวชาญ และคัดเลือก/ควบคุมประเภทของกิจการรีไซเคิลที่ควรส่งเสริม ปรับปรุงระบบการควบคุมมลพิษและการรักษาสภาพแวดล้อม ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมมลพิษ และ EIA/EHIA ก่อนไปมุ่งสู่ Green Mining Green Recycling และ BCG สนับสนุนกฎหมาย PRTR (ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ. ...) สำรวจและขึ้นทะเบียนพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษที่เสียหายจากกิจการฝังกลบ การหล่อหลอม และการรีไซเคิลของเสียอันตราย

ส่วนภาพรวมอื่นๆ เสนอ ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ที่ทำให้ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับอุตสาหกรรมอันตรายบางประเภท เช่น การรีไซเคิลของเสีย โรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น พร้อมปรับปรุงโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริม-การอนุญาตการลงทุนอุตสาหกรรม


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม