ใช้บริการสถานเสริมความงาม “ใบเสร็จ” ต้องชัดเจนมีรายละเอียด
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 19-08-2023 11:09
หมวดหมู่: บริการสุขภาพ

นายธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า จากเรื่องร้องเรียนที่ผ่านมาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นั้น ผู้บริโภคได้รับใบเสร็จเพียงแค่แสดงจำนวนเงินเท่านั้น แต่ไม่มีรายละเอียดของการบริการแต่ละรายการ ว่ามีอะไรบ้างซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงเมื่อต้องใช้สิทธิ ทำให้ผู้ประกอบการอาศัยช่องโหว่ดังกล่าวมาทำให้ผู้บริโภค ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โดยเฉพาะ “ ใบเสร็จรับเงิน “ ที่ผู้ประกอบการบางรายใช้แค่ “บิลเงินสด “ ที่แค่ไปซื้อแบบสำเร็จรูป เล่มละ ไม่กี่สิบบาท แล้วก็เอามาเขียนให้ลูกค้า ทำให้เกิดปัญหาตอนที่ผู้บริโภคต้องการเรียกร้องเงินค่าชดเชย เพราะได้รับเอกสารไม่สมบูรณ์ - ไม่ถูกต้อง อีกทั้ง ยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการที่ใช้บิลเงินสด อาจต้องการหลบเลี่ยงภาษี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ผู้ประกอบการ มักใช้ข้อความเอาเปรียบผู้บริโภค เขียนในใบเสร็จรับเงิน เช่น งดคืนเงิน, งดคืนเงินทุกกรณี , ไม่คืนเงินทุกกรณี, NO REFUND ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 ข้อ 5 (4) กำหนดว่า หลักฐานการรับเงินต้องไม่มีข้อความที่กำหนดว่าห้ามผู้บริโภคยกเลิกการใช้บริการ หรือ ข้อความที่มีลักษณะหรือความหมายในทำนองเดียวกัน ถ้ามีข้อความลักษณะนี้อยู่ในใบเสร็จ ตามมาตรา 35 จัตวา พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าสัญญานั้นไม่มีข้อความเช่นว่านั้น อีกเหตุที่ผู้บริโภค ต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะผู้ประกอบการบางราย ไม่ยอมแจกแจงรายละเอียดในสินค้าและบริการแต่ละรายการให้ชัดเจน โดยเขียนแค่ยอดจำนวนเงินรวมเท่านั้น
จากเหตุแห่งปัญหาข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งดูแลประกาศเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว มีข้อบังคับเพิ่มเติม ใน “ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563” เกี่ยวกับรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน โดยควรระบุรายละเอียดของบริการหรือคอร์สที่ผู้บริโภคซื้อด้วยว่า มีรายละเอียดการให้บริการอะไรบ้าง แต่ละรายการเป็นจำนวนเงินเท่าใด เนื่องจากพบปัญหาว่าในหลักฐานการรับเงิน จะระบุเพียงว่าเป็นค่าบริการ และยอดเงินรวม ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถเข้าใจได้ว่า จะสามารถเข้าไปรับบริการอะไรบ้าง เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน
นายธนัช ยังแนะนำว่า “ผู้บริโภค” มีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะไม่รับ “บิลเงินสด” และร้องขอให้ผู้ประกอบการต้องแจกแจงรายละเอียดของบริการที่ให้บริการ เพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเอง แต่หากผู้ประกอบการไม่ยินยอมทำตาม สามารถมาร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อดำเนินการต่อไป โดยสามารถติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02 248 3737 หรือ complaint@consumerthai.org ใบเสร็จรับเงิน คืออะไร? เจอคำถามแบบนี้เข้าไป หลายคน อาจบอกว่า แหม ! มาถามอะไร เชยจัง ! เอ้า พูดกันจริงๆ ไม่ใช่ทุกคนจะรู้นะ เพราะฉะนั้น มาทำความรู้จักกับ “ ใบเสร็จรับเงิน “ ให้ถ่องแท้เสียก่อน
“ใบเสร็จรับ” หรือ ที่เรียกกันว่า “ ใบเสร็จรับเงิน” (Receipt) คือ เอกสารสำคัญที่จะแสดงถึงการใช้จ่ายเงินของผู้ซื้อ ซึ่ง ใบเสร็จรับเงิน จะถูกออกโดยผู้ขาย หรือ เจ้าของกิจการ เพื่อยืนยันว่า ได้รับเงินค่าสินค้า หรือ บริการ เรียบร้อย เรื่องนี้ สำคัญมาก เมื่อมีการซื้อ – ขายเกินราคา 100 บาท เกิดขึ้น เจ้าของกิจการ ต้อง ออกใบเสร็จรับเงิน ให้ลูกค้าทุกครั้ง ห้ามเพิกเฉย หรือละเลยเด็ดขาด เพราะ ตามกฎหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 105 กำหนดให้เจ้าของกิจการ ต้องออกใบกำกับภาษี (สำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือ ใบเสร็จรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานในการรับเงิน หากเพิกเฉย ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 500 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 127 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ในส่วนของลูกค้า ซึ่งก็คือ ผู้บริโภค ต้องไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง เพราะหากเมื่อใดก็ตามที่ไปซื้อสินค้า หรือ บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจให้บริการเสริมความงาม จะต้องได้รับ “ ใบเสร็จรับเงิน “ ที่ออกอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งเป็นไปตาม “ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 “ภายใต้การกำกับดูแล ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ. ) โดยจะต้องระบุรายละเอียดของผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ดังนี้ 1) ชื่อและที่อยู่ของประกอบธุรกิจ 2) ชื่อของผู้มีอำนาจออกหลักฐานการรับเงิน 3) ชื่อและที่อยู่ของผู้บริโภค 4) วันเริ่มต้น และ วันสิ้นสุดตามเงื่อนไข หรือ เงื่อนเวลาการให้บริการ หรือ การเป็นสมาชิก และ 5) จำนวนเงินค่าบริการ
อ่านรายละเอียด ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการเสริมความงามเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2563 ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค https://www.ocpb.go.th/download/Beauty.pdf