มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ทำไม?จึงต้องค้านร่างผังเมืองกรุงเทพฯ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 27-06-2024 15:22

หมวดหมู่: อื่นๆ

ภาพประกอบข่าว

ทำไม?จึงต้องค้านร่างผังเมืองกรุงเทพฯ

“ร่างผังเมืองฉบับนี้ ไม่ยอมฟังความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่เริ่ม ชาวบ้านจะได้อะไรจากถนนที่กว้างขึ้น” นี่คือเสียงสะท้อนจากเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จัดโดย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เป็นฉบับที่อาจเรียกได้ว่าขาดการมีส่วนร่วม”

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวบรวมเรื่องราวเพื่อตอบคำถามข้างต้น โดยฟังความจากชาวบ้านต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน นั่นก็เพราะว่า ...มันขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่.. คือยังไง ? คือ กทม. คิดเอง เออเอง จัดแจงเอง พอทำเสร็จก็เอามาถามว่า เห็นด้วยมั้ย ?มันไม่ใช่แล้ว

และต่อไปนี้ คือ คำถามจากชาวบ้านที่เดือดร้อนจากร่างผังเมืองของกทม. ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เจ้าหน้าที่ผังเมือง ได้กระทำโดยพลการ หรือไม่

-ขีดเส้นเวนคืนถนน 148 สาย ระยะทาง 600 กว่ากิโลเมตร ที่พาดผ่านหลังคาบ้านประชาชน แต่เจ้าของกลับไม่รู้เรื่องเลย แล้วใครเป็นคนขีดเส้นถนนกว้าง 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร 40 เมตร ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรจากถนนที่กว้างขึ้น นอกจาก บริษัทอสังหาริมทรัพย์”

-เจ้าหน้าที่วางผังเมือง จู่ๆ ก็มาขีดเส้นถนนซึ่งเป็นที่ดินในแปลงมรดกของชาวบ้าน “คนจะวางผังเมือง ทำไมไม่ไปดูว่าที่ดินของใคร และเขายินยอมหรือไม่!

- จู่ๆ บ้านถูกเวนคืนโดย พ.ร.ก.เวนคืน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 แต่เจ้าของบ้านไม่เคยได้รับจดหมายแจ้ง แม้แต่ฉบับเดียว “เวนคืนบ้านเรา ทำแบบนี้ได้หรือ ก่อสร้างถนน 1 หมื่นล้าน ไม่มีแม้แต่กระดาษใบเดียวที่จะแจ้งประชาชน ไม่เคยได้รับจดหมายแม้แต่ฉบับเดียว ไม่เคยรับรู้ว่ามีเวทีรับฟังความคิดเห็น ไม่เคยรับรู้อะไร คุณจะมาเอาบ้านเราไป แต่คุณยังไม่บอกเราเลย ดังนั้น เราจะไปฟ้องต่อศาลปกครอง

จากจุดเริ่มของร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ( ปรับปรุงครั้งที่ 4 ) ตั้งแต่ฉบับเดิม ที่ได้ถูกจัดทำขึ้นมาไว้ตั้งแต่ปี 2560-2562 ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ขาดการรับรู้ และมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยงานเครือข่ายภาคประชาชนได้เคยทำหนังสือทักท้วงไปทั้งในส่วนเนื้อหา และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ส่วน กทม.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาถึง 4 ครั้ง แต่กลับยังไม่เห็นทางแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน นั่นก็เพราะ ร่างผังเมืองใหม่ ไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชน เท่ากับ กทม. ไม่ยอมยึดตาม “พระราชบัญญัติผังเมือง มาตรา 9” ที่กำหนดไว้ชัดเจน ว่า “การวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ และผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงผู้ที่จะได้รับผลกระทบในผังแต่ละประเภท และต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง โดยมีข้อมูลเพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบต่อตัวเอง ชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องแจ้งแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อน หรือความเสียหายต่อประชาชนหรือชุมชนด้วย

นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผังเมืองควรเป็นสิ่งกำหนดคุณภาพชีวิตประชาชนและลดความขัดแย้ง แต่ตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนทะเลาะกันเอง รวมถึงพบว่ากระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนที่ กทม. จัดขึ้นมีปัญหา แถมยังมีคนกรุงเทพฯ จำนวนมากที่ไม่รับรู้ว่ามีกระบวนการนี้ “เขามาเล่าเรื่องร่างแผนผังเมืองแค่ 1 ชั่วโมง แล้วใช้แผนที่ฉบับเดียวกันอธิบายในทุกเขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มันย่อมมีบริบทต่างกัน แน่นอนว่าไม่มีชาวบ้านที่ไหนฟังรู้เรื่อง และไม่เคยมีการอธิบายถึงผลกระทบที่ชุมชนจะเจอ หรือมาตรการเยียวยาใด ๆ ในช่วงซักถาม ก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านพูดแค่ 15 นาที เท่านั้น”

จากมูลเหตุ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่พบปัญหาเรื่องการละเลยและลิดรอนสิทธิประชาชน รวมถึงการกระทำบางประการที่ผิดกฎหมาย นั่นจึงทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหลายเขตของกรุงเทพฯ เลือกที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง พร้อมผนึกกำลังคว่ำร่างผังเมืองฉบับนี้ที่สำคัญต่างไม่เชื่อว่า การที่ กทม.ขยายเวลารับฟังความเห็นการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นเพียงการขยายเวลารับเอกสาร ดังนั้น ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นและกำหนดทิศทางของกระบวนการจัดทำร่างผังเมืองตั้งแต่ต้นทาง ตราบนั้น ทุกคนจะเดินหน้าผนึกกำลังคว่ำร่างผังเมืองรวม กทม. ซึ่งเป็นตัวการลิดรอนสิทธิประชาชนให้หมดสิ้นไป


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม