มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ออลล์ อินสไปร์ฯ จากหนี”หนี้” สู่ “ถูกฟ้องล้มละลาย” !ตอน3จบ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-02-2024 15:47

หมวดหมู่: ที่อยู่อาศัย

ภาพประกอบข่าว

ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้

เป็นข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ จาก นายสกุลชัย เก่งอนันตานนท์ ที่เจาะประเด็น “รายงานเป็นคอลัมน์ลงเว็บไซต์ เดอะ สแตนดาร์ด https://thestandard.co/backtrack-all-inspire/เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 โดย เนื้อหามีดังต่อไปนี้

ช่วงเช้าของ 4 มกราคม 2566 บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL แจ้งการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท รุ่น ALL244A ซึ่งครบกำหนดชำระดอกเบี้ยงวดที่ 5 จำนวน 10.65 ล้านบาท ในวันที่ 3 มกราคม 2566

ขณะที่ ธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ชี้แจงว่า สาเหตุการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งนี้ เป็นเพราะบริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ

แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปัญหาขาดสภาพคล่องของ ALL ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บริษัทเร่งขยายธุรกิจผ่านการซื้อที่ดินและพัฒนาโครงการหลายแห่ง แต่ในบางโครงการประสบปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อได้ เช่น ไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำให้กระแสเงินสดติดขัด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองหลังจากนี้คือ การผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ครั้งนี้จะลุกลามต่อเนื่องจนกลายเป็นการผิดนัดชำระหนี้ทั้งจำนวน มูลค่า 709.9 ล้านบาท หรือไม่ ซึ่งในเบื้องต้น ALL ยังคงยืนยันว่า การผิดนัดชำระดอกเบี้ยข้างต้นยังไม่มีผลทำให้บริษัทต้องชำระหนี้ตามหุ้นกู้ทั้งหมด ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระโดยพลัน (Call Default) ในทันที

สรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงปัญหาเฉพาะตัวของ ALL เพราะจากการติดตามบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมแทบจะไม่มีปัญหาด้านกระแสเงินสด โดยแต่ละบริษัทยังสามารถซื้อที่ดิน เปิดโครงการ และขายได้ตามปกติ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นว่า ALL มีปัญหามาสักระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากคอนโดมิเนียมหลายแห่งสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ประกอบกับบริษัทถูกฟ้องร้องจากลูกบ้าน สะท้อนถึงปัญหากระแสเงินสดที่ทำให้บริษัทมีแนวโน้มว่าอาจจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยได้

“ก่อนหน้านี้บริษัททำการเพิ่มทุน แต่ได้ไม่ครบตามจำนวน และการที่บริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 10 ล้านบาท สะท้อนว่าปัญหาอาจจะหนักพอสมควร แต่สำหรับผู้พัฒนาอสังหารายอื่น ส่วนตัวคิดว่าไม่มีปัญหา หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและการกลับมาของชาวจีน”

ย้อนรอย ALL หลังเข้าเทรดกลางปี 2562

หลังจากระดมทุนผ่านการขายหุ้น IPO ที่ราคา 4.90 บาท เมื่อปี 2562 หลังจากนั้นหุ้น ALL เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นวันแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งราคาทำสถิติสูงสุดในวันนั้นที่ 2.6 บาท (ราคาหลังเพิ่มทุน) ก่อนที่ราคาหุ้นจะเข้าสู่ขาลงอย่างต่อเนื่องจนมาแตะระดับ 0.26 บาท ทำให้มูลค่าของบริษัทดิ่งลงจากราว 2.2 พันล้านบาทในปี 2561 มาเหลือประมาณ 500 ล้านบาทในตอนนั้น

สำหรับผลประกอบการของ ALL ในปี 2562 ยังคงเติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า ทั้งในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจาก 2.34 พันล้านบาท เป็น 2.92 พันล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตขึ้นจาก 343.42 ล้านบาท เป็น 501.09 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นผลประกอบการของ ALL เริ่มชะลอตัวลงในปี 2563 ก่อนพลิกเป็นขาดทุนสุทธิต่อเนื่องในปี 2564 และ 9 เดือน ปี 2565

ALL พยายามเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัทท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ผ่านมา โดยบริษัทออกหุ้นกู้จำนวน 709.9 ล้านบาท ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แต่ดูเหมือนสภาพคล่องที่บริษัทต้องการจะยังไม่เพียงพอ ทำให้บริษัทตัดสินใจออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัดอีก 6 ครั้ง ระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2565 รวมเป็นเงิน 273 ล้านบาท

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การขายหุ้นอย่างต่อเนื่องของผู้บริหารบริษัทอย่าง ‘ธนากร’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท กลับเป็นฝ่ายขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งปี 2565 ‘ธนากร’ ขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาสุทธิ 213 ล้านหุ้น เช่นเดียวกับ ชวนา ธนวริทธิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ขายหุ้นสุทธิ 183 ล้านหุ้น ระหว่างปี 2565 หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ALL จะแก้ปัญหาสภาพคล่องในครั้งนี้อย่างไร และจะเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าและผู้ลงทุนกลับมาได้หรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะยังเป็นปัญหาเฉพาะตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าอุตสาหกรรมอสังหาเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในวงกว้าง

เจาะเบื้องหลัง บริษัท 'ออลล์ อินสไปร์' ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ www.allinspire.co.th มีทุนจดทะเบียนราว 1,856 ล้านบาท

เมื่อย้อนไทม์ไลน์ไป ในแง่ผลประกอบการ ตามข้อมูลจากตลาดแห่งทรัพย์แห่งประเทศไทย พบมีรายได้และผลกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี 2562 มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,918 ล้านบาท กำไรราว 501ล้านบาท ถัดมา ปี 2563 รายได้ลดลงอยู่ที่ 2,220 ล้านบาท กำไร 241 ล้านบาท ก่อนปี 2564 มีรายได้รวมทั้งปี ที่ 1,290 ล้านบาทเท่านั้น และประสบภาวะขาดทุนสุทธิราว 347 ล้านบาท ส่วนงวดไตรมาสแรก ปี 2565 บริษัทออลล์ อินสไปร์ ขาดทุนกว่า 77 ล้านบาท คาดปัญหาสภาพคล่องภายในบริษัท อาจเป็นมูลเหตุส่วนหนึ่งถึงปัญหาข้อร้องเรียนที่เกิดขึ้น

ชื่อของบริษัท 'ออลล์ อินสไปร์' ยังปรากฎหน้าสื่อ หลัง บริษัท เจ้าพระยามหานคร จำกัด (มหาชน) CMC เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าเทคโอเวอร์การลงทุนโครงการ The Excel Ratchada 18 จากบริษัท ออลล์ อินสไปร์ เพื่อนำมาบริหารต่อ โดยเป็นคอนโดพร้อมอยู่ Low Rise 8 ชั้น 2 อาคาร 270 ยูนิต บนพื้นที่โครงการกว่า 2 ไร่ ย่านรัชดา - ห้วยขวาง อีกด้วย คาดคงเป็นอีกหนึ่งแนวทางการแก้ปัญหาทางด้านการเงินของ ALL

ต้องจับตามองว่า ผู้บริหารบริษัท ออลล์ อินสไปร์ จะหาทางออกจากปัญหาผิดนัดชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นอย่างไรต่อไป รวมถึง แนวคิดการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ แต่ ปัญหามันไม่จบแค่ฟ้องร้อง เพราะแม้เจ้าหนี้ชนะคดี ลูกหนี้ก็อาจไม่มีเงินจ่ายคืน !กลุ่มคนที่ต้องรับผิดชอบนั่นก็คือ บรรดาผู้บริหารของ ออล์ อินสไปร์

ผู้บริโภคอาจจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า ด้วยจำนวนหนี้ทั้งหมดของบริษัท ออลล์ อินสไปร์ จะยังมีทรัพย์สินใดให้บังคับคดี หรือ มาเฉลี่ยทรัพย์กันได้บ้าง ไม่ว่าจะเดินไปในแนวทางใด ซึ่งนับว่าเป็นความยากลำบากของผู้บริโภคที่ไม่ได้ทราบถึงปัญหาภายในของบริษัทฯ แต่ต้องมามีความเสี่ยงสูญเงินจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์

อ่านเต็มอิ่ม

ตอน 1 แรงกระเพื่อมจากผู้เสียหาย ชี้เป้าออลล์ อินสไปร์ฯ ตัวการใหญ่

https://ffcthailand.org/news/allinspireseries1

ตอน 2 ออลล์ อินสไปร์ ฯ หนี้สินล้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย !

https://ffcthailand.org/news/allinspireseries2

ตอน 3 "ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้"

https://ffcthailand.org/news/allinspireseries3


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม