มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ออลล์ อินสไปร์ฯ จากหนี”หนี้” สู่ “ถูกฟ้องล้มละลาย” !ตอน 2

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 05-02-2024 15:44

หมวดหมู่: ที่อยู่อาศัย

ภาพประกอบข่าว

ออลล์ อินสไปร์ ฯ หนี้สินล้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย !

จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตรวจสอบข้อมูลที่ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึง การรายงานข่าวจากสื่อมวลชนหลายสำนัก สรุปเป็นไทม์ไลน์ ดังนี้

-2 สิงหาคม 2566 ตลาดหลักทรัพย์ เตือนผู้ลงทุนศึกษา และติดตามข้อมูลประกอบการพิจารณา และใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL หลังจาก ALL แจ้งผิดนัดชำระหนี้ สรุปได้ดังนี้ 1. หุ้นกู้ ของ ALL เนื่องจากการผิดนัดในมูลหนี้รวมเกินเกณฑ์ตามข้อกำหนดสิทธิ และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ (Cross Default) ทั้งนี้ บริษัทผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งหมด (7 รุ่น) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,416 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินต้นคงค้าง 2,334 ล้านบาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระจนถึงวันที่ผิดนัด 82 ล้านบาท (คิดเป็น 40% ของสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)โดยบริษัทจะเร่งดำเนินการขายทรัพย์ และหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระคืนหนี้หุ้นกู้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 2 สิงหาคม 2566 เพื่อขอมติอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในการดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของผู้ออกหุ้นกู้ โดยจะขอมติอนุมัติมอบหมายหรือมอบอำนาจให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือเจ้าหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ดำเนินการฟ้องร้องคดีและบังคับคดี และ 2. หนี้ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) รวม 264 ล้านบาท โดยหากไม่นำเงินมาชำระหนี้ภายใน 30 วันนับจากได้รับหนังสือจาก KKP (วันที่ 20 กรกฎาคม 2566) KKP จะใช้สิทธิดำเนินการตามกฎหมาย

ออลล์ อินสไปร์ ฯ เหลือเงินสดแค่ 1 ล้าน แต่มีหนี้ดอกเบี้ยกว่า 3 พันล้าน

-15 สิงหาคม 2566 สื่อฯได้รายงานข่าว ออลล์ อินสไปร์ ฯ นำส่งงบการเงินประจำไตรมาส 2/2566 โดยบริษัทมีปัญหาสภาพคล่อง และ เหลือเงินสดเพียง 1 ล้านบาท เท่านั้น ในขณะที่มี หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสูงถึง 3,905 ล้านบาท (เกือบทั้งหมดเป็นหนี้สินหมุนเวียนที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี) ทั้งนี้ ALL มีหุ้นกู้คงค้าง 7 รุ่น มูลค่ารวม 2,334 ล้านบาท และ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA ได้ขึ้นเครื่องหมาย “DP” หรือ Default Payment ในหุ้นกู้ทุกรุ่นแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ หุ้นกู้ของ ALL ทั้งหมดไม่ได้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

-18 สิงหาคม 2566 ออลล์ อินสไปร์ฯ ถูกเจ้าหนี้มีประกันรายหนึ่ง ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย ต่อ ศาลล้มละลายกลาง จากการสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ล่วงหน้าจำนวน 12 ฉบับ มูลหนี้รวมกว่า 46 ล้านบาท ( 46,020,756.16 บาท ) และ จดจำนองโฉนดที่ดินเปล่า จำนวน 5 แปลง ( เลขที่ 10838, 10837, 113340, 10840 และ 113343 ) ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ดินเปล่าไม่มีสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยศาล รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ล.4495/2566 และนัดพิจารณาคดีวันที่ 16 ตุลาคม 2566

-29 กันยายน 2566 ออลล์ อินสไปร์ฯ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกเจ้าหนี้มีประกัน ยื่นฟ้องเป็นจำเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย มูลหนี้รวมกว่า 46 ล้านบาท
11 ตุลาคม 2566 บอร์ด ออลล์ อินสไปร์ ได้รับทราบถึงการลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และตำแหน่งกรรมการบริษัททุกตำแหน่งของ “นายธนากร ธนวริทธิ์” เนื่องจากบริษัทและกรรมการถูกฟ้องร้องจากบริษัทแห่งหนึ่ง และบุคคลธรรมดารายหนึ่ง จากการผิดสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายทุนทรัพย์ 193 ล้านบาท จากการที่กรรมการท่านหนึ่งของบริษัทได้ทำสัญญาลงทุนในปี 60 ในฐานะบริษัทเพียงผู้เดียว

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาตามหลักนโยบายการกำกับดูแลกิจการ เห็นควรให้ “นายธนากร ธนวริทธิ์” ยุติบทบาทการเป็นกรรมการจนกว่าเรื่องดังกล่าวจะชัดเจน เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และความโปร่งใส โดยการลาออกดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2566

  • 16 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่ศาลล้มละลายกลาง นัดพิจารณาคดี ปรากฏว่า ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อน เนื่องจาก ติดการพิจารณาคดีที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนหน้า และ ขออนุญาตยื่นคำให้การต่อสู้คดี ซึ่งทนายโจทก์และทนายผู้ร้องไม่คัดค้านการขอเลื่อนคดี ศาลฯ พิเคราะห์แล้ว จึงนัดพิจารณาครั้งถัดไปวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า บริษัท ‘ออลล์ อินสไปร์’ ฯ ยังเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้

• 09 มกราคม 2567 หุ้น ALL โดน ตลาดหลักทรัพย์ ขึ้นเครื่องหมาย SP-NP พร้อมขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินของ ALL ด้วยความระมัดระวังรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน โดยผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2566 กรณีการขาดสภาพคล่องทางการเงิน การผิดนัดชำระหนี้ และการถูกฟ้องร้อง สรุปฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ดังนี้ • ณ 30 กันยายน 2566 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 956 ล้านบาท • ไตรมาส 3 ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 179 ล้านบาท • งวด 9 เดือน ปี 2566 ขาดทุนสุทธิ 1,832 ล้านบาท

ด้าน นางสาวสุธิดา พันไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ที่บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL เปิดเผยว่า ตามที่บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ได้นำส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2567 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้สอบทาน และรับรองงบการเงิน โดยไม่แสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทาน ดังต่อไปนี้ 1. การขาดสภาพคล่องทางการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ในงบการเงินรวม และงบการเงินเฉพาะกิจการ กลุ่มบริษัทมีเงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสด จำนวน 12.78 ล้านบาท และ 1.19 ล้านบาท ตามลำดับ หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน จำนวน 2,106.68 ล้านบาท และ 2,057.93 ล้านบาท ตามลำดับ และภาระผูกพันในการจ่ายชำระค่าซื้อที่ดินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 1,433.65 ล้านบาท กลุ่มบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้มีผลขาดทุนเกินทุนจำนวน 955.89 ล้านบาท และ 799.91 ล้านบาท ตามลำดับ และขาดสภาพคล่องทางการเงิน

ทั้งนี้ จึงเป็นเหตุให้กลุ่มบริษัทไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบันต่อได้ ผิดนัดชำระหนี้ทั้งจากเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ รวมถึงผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ และผิดนัดชำระคืนเงินรับล่วงหน้าจากลูกค้า ซึ่งบริษัท อยู่ระหว่างการจัดหาเงินจากแหล่งเงินทุนเพื่อจ่ายชำระหนี้สินหมุนเวียน และภาระผูกพันที่ถึงกำหนดชำระดังกล่าว

สถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทยังไม่สามารถเพิ่มทุนได้ตามแผนธุรกิจเดิม และแผนการขายสินทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้มีความล่าช้า จึงทำให้มีความไม่แน่นอนที่มีอย่างมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับความสามารถในการจัดหาเงินทุนเพื่อนำมาใช้ในการชำระคืนหนี้สินของกลุ่มบริษัท และเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 10/2566 ได้มีมติอนุมัติการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และการจัดจ้างสำนักงานทนายความเพื่อดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งปัจจุบันบริษัท อยู่ระหว่างการจัดหา และเจรจากับผู้สนับสนุนแผนในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

2.การผิดนัดชำระหนี้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนเป็นจำนวนเงิน 5,424.16 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี จำนวน 2,326.68 ล้านบาท หุ้นกู้ 4 รุ่น ได้แก่ ALL235A ALL23OA ALL242A และ ALL252A ผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้สิทธิข้อเรียกให้หุ้นกู้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระหนี้โดยพลัน (วันที่ครบกำหนดชำระโดยพลันคือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2566) ดังนั้นเมื่อนำมูลหนี้หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระเงินต้น และดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระโดยพลัน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 400.00 ล้านบาท จึงเป็นเหตุให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่เหลือ (Cross Default) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิ และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้ ต่อมาผู้ถือหุ้นกู้ได้มอบหมายให้ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของผู้ออกหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ดำเนินการฟ้องร้อง และบังคับจำนองทรัพย์สินหลักประกันของบริษัท ครบทุกรุ่นแล้วเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลภายนอก เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี และเงินกู้ยืมระยะยาวจากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี รวมจำนวน 1,543.62 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มบริษัทไม่สามารถจ่ายชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และเจ้าหนี้เงินกู้หลายรายฟ้องร้องบริษัทต่อศาลแพ่ง และศาลอาญาให้บริษัท จ่ายชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ซึ่งปัจจุบันคดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นอกจากนี้บริษัท ยังมีภาระหนี้สินอื่นๆ ที่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาอีกเป็นจำนวนมาก

3.การถูกฟ้องร้อง บริษัทถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงิน บริษัทอื่น และบุคคลธรรมดาหลายรายในคดีต่างๆ จากการผิดสัญญา การเรียกร้องค่าเสียหาย และอื่นๆ โดยมีทุนทรัพย์สำหรับงบการเงินเฉพาะกิจการ รวมจำนวน 3,112.90 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันคดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลสถานการณ์ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้นมีผลกระทบและมีความเกี่ยวข้องกัน โดยแสดงถึงความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์ และหนี้สินที่มีสาระสำคัญในงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ อย่างไรก็ตาม บริษัทชี้แจงว่าการที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความคิดเห็นต่องบการเงินของบริษัท สำหรับงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่ได้มีสาเหตุจากการถูกจำกัดขอบเขตโดยผู้บริหารแต่เกิดจากผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่สำคัญตามสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น (ข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจ)https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1107501

  • 6 กุมภาพันธ์ 2567 ศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่ง คดีที่ ออลล์ อินสไปร์ ฯถูกเจ้าหนี้มีประกันรายหนึ่ง ยื่นฟ้องเป็นจำเลยในคดีล้มละลาย มูลหนี้รวมกว่า 46 ล้านบาท ซึ่งนัดล่าสุดนี้ได้เลื่อนมาจาก14 พฤศจิกายน 2566

มีคำถาม : หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทออลล์ อินสไปร์ฯ ล้มละลาย จะมีผลจะผลกระทบอย่างไรหรือไม่ต่อผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโครงการคอนโดมิเนียมสร้างไม่เสร็จ

นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้บริษัทออลล์ อินสไปร์ฯ ล้มละลาย มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ นั่นทำให้ผู้เสียหายต้องไปยื่นเรื่องขอแบ่งทรัพย์สินที่เหลืออยู่ แต่หากออลล์ อินสไปร์ ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ คงต้องรอกันอีกยาว

ยังมีประเด็นให้ตามต่อ ตอน 3 "ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้" ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของซีรีส์ ออลล์ อินสไปร์ ฯ หนี้สินล้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย !

https://ffcthailand.org/news/allinspireseries3


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม