ออลล์ อินสไปร์ฯ จากหนี”หนี้” สู่ “ถูกฟ้องล้มละลาย” !ตอน 1
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 05-02-2024 15:18
หมวดหมู่: ที่อยู่อาศัย

ออลล์ อินสไปร์ฯ จากหนี”หนี้” สู่ “ถูกฟ้องล้มละลาย” !
บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALL ชื่อนี้ .. มีแต่เรื่องกระฉ่อน !นั่นก็เพราะว่า เป็นถึงบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกิจการอสังหาริมทรัพย์มูลค่ามหาศาล แต่กลับสร้างคอนโดมิเนียม ไม่เสร็จตามกำหนดสัญญาแม้แต่โครงการเดียว จนเป็นที่มาของมหากาพย์ “คอนโดฯสร้าง4ปี มีแต่โครง..แถมยังหนีหนี้”
แรงกระเพื่อมจากผู้เสียหาย ชี้เป้าออลล์ อินสไปร์ฯ ตัวการใหญ่
ข่าวคราวบนโลกโซเชียล เห็นแค่โครงฐาน 2 ชั้นของคอนโดมิเนียม เป็นภาพที่สร้างแรงกระเพื่อม จุดเริ่มมาจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ “พ่อบ้านบ้าคอนโด” โพสต์ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ถามหาความคืบหน้าและความรับผิดชอบจากเจ้าของโครงการ จนมีคนที่เดือดร้อนเหมือนกันและชาวเน็ตจำนวนมาก ต่างช่วยกันส่งข้อมูลการก่อสร้าง สภาพโครงการ หลักฐานชำระเงินการจองซื้อห้องชุดหลายแสนบาท แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความว่างเปล่า ผู้เสียหายบางคนส่งเอกสารไปขอยกเลิกสัญญากับบริษัทเจ้าของโครงการแต่.... ไม่มีการตอบกลับ
เจ้าของเฟซบุ๊ก PropCons ซึ่งเป็นเพจดังด้านอสังหาริมทรัพย์ บอกว่า ตัวเองก็เป็นอีกคนที่ซื้อห้องเอาไว้ทั้งหมด 5 ห้อง โดยเป็นการจ่ายเงินดาวน์ ยอดรวมทั้งหมดเป็นล้าน ทั้งที่โครงการบอกว่าจะสร้างเสร็จในเดือนธันวาคม 2564 แต่จนถึงกลางปี 2565 กลับยังมีแค่ “โครง” เท่านั้น ซึ่งหน้าสัญญาแปลงที่ดินนั้น ก็ยังคงติดอยู่กับธนาคารอีกด้วย
ขณะเดียวกัน คนที่ผ่อนดาวน์คอนโดบางคน ก็ไม่รู้ด้วยว่า โครงการดังกล่าวไม่คืบหน้า เพราะอยู่ต่างจังหวัดหรือไม่ก็ต่างประเทศ รวมถึงหน้าเพจก็ไม่มีความคืบหน้าตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565
ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูการตั้งกระทู้ร้องเรียนในพันทิป พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2565 มีลูกค้าหลายคนระบุว่า ตัวเองผ่อนดาวน์จนครบแล้ว แต่คอนโดก็ยังสร้างไม่เสร็จ พอติดต่อไปขอคืนเงินก็ติดต่อไม่ได้เลย อยากได้เงินคืนมาก ทำยังไงดี สุดท้ายคนกลุ่มนี้แก้ปัญหาด้วยการตั้งไลน์กลุ่มผู้เสียหาย เพื่อเจรจาหาทางแก้ไข
นอกจากนี้ ยังมีคนเอาภาพโครงการอื่น ๆ ที่ลงทุนสร้างโดยบริษัทอสังหาบริษัทนี้มาลง ซึ่งพบว่าโครงการอื่นก็ล่าช้าไม่ต่างกัน
คอนโดฯ5โครงการโดยออลล์ อินสไปร์สร้าง 4 ปีมีแต่โครง
1.โครงการ ไรส์ พหล-อินทามระ ( RISE Phahon - Inthamara ) เป็นคอนโดฯ สูง 40 ชั้น จำนวน 384 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการแรกของออลล์ อินสไปร์ ติดถนนสุทธิสารวินิจฉัย ที่สร้างได้แค่ชั้น 2 แต่ตามสัญญา ระบุว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์วันที่ 31 ธันวาคม 2564
2.โครงการดิ เอ็กเซล ลาซาล 17 ( The Excel ลาซาล 17 ) เป็นคอนโดฯ 8 ชั้น 4 อาคาร จำนวน 581 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,335 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ผู้จองซื้อ ร้องเรียนว่าโครงการสร้างไม่เสร็จตามสัญญา ที่ระบุว่า สร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564 ต่อมาทางออลล์ อินสไปร์ ได้ขายที่ดินและโครงการให้กับ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ REAL ASSET ของตระกูล”จึงรุ่งเรืองกิจ “มูลค่า 480 ล้านบาท เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจาก มีปัญหาขาดสภาพคล่องและกระแสเงินสดหมุนเวียนไม่เพียงพอ ทำให้ต้องผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ รุ่น ALL244A ที่ครบกำหนดจ่ายในวันที่ 3 มกราคม 2566 จำนวน 10.5 ล้านบาท
3.โครงการดิ เอ็กเซล ไฮด์อะเวย์ ( The Excel Hideaway ) รัชดาห้วยขวาง คอนโดสูง 8 ชั้น 3 อาคาร 592 ยูนิต มูลค่ากว่า 1,300 ล้านบาท ยังสร้างไม่เสร็จ ผิดกำหนดสัญญาที่เสร็จพร้อม โอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2562
4.โครงการ ดิ เอ็กเซล ไฮด์อะเวย์ ( The Excel Hideaway ) ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท 50 เป็นคอนโดสูง 8 ชั้น 772 ยูนิตมูลค่า 1,900 ล้านบาท ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มี กำหนด กุมภาพันธ์ 2563
5.โครงการอิมเพรสชั่น (Impression ) เอกมัย เป็นโครงการคอนโดใจกลางเอกมัย 2 อาคาร สูง 25 ชั้น และ 43 ชั้น มูลค่า 5,000 ล้านบาทซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่น ในนาม เอเอชเจ เอกมัย จำกัด ปัจจุบันยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง หลังจากที่ได้ยื่นขอ EIA ตั้งแต่ปี 2562 ส่วนในต่างจังหวัด มีโครงการอิมเพรสชั่น ภูเก็ต หยุดการก่อสร้าง
บรรดาลูกค้าแท็กทีมพาเหรดโวย เรื่องที่วางเงินดาวน์ - ผ่อนจ่ายจริง บางคนหมดเงินไปเป็นล้าน แต่ไม่ได้ของ จี้ จ่ายเงินคืนมา ในเมื่อโครงการสร้างไม่เสร็จตามกำหนดสัญญา ตอนนั้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังรอให้ผู้บริหารบริษัทออกมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้ามีเหตุเลวร้ายสุด หากไม่มีการก่อสร้าง เนื่องจากติดขัดอุปสรรคใดๆ การพูดคุยติดต่อ เพื่อคืนเงินลูกค้า ควรเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่กลับไม่สามารถติดต่อตัวแทนของบริษัทในทุกช่องทาง
มีลูกค้าบางคนผ่อนดาวน์ครบ แต่โครงการคอนโดฯไม่สร้างตามสัญญา ผู้เสียหายจึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน มีบางคนไปฟ้อง”ศาลคุ้มครองผู้บริโภค”เพื่อขอเงินดาวน์ทั้งหมดคืน จนบริษัทต้องวิ่งโร่ส่งตัวแทนขอไกล่เกลี่ยผ่อนชำระ 4 งวด แต่หลังจากนั้น ไม่เคยได้รับเงินอีกเลย แถมหนีหน้าหายกันไปหมดติดต่อใครไม่ได้ทุกช่องทาง และนั่น!!!ทำให้ผู้เสียหายอดรนทนไม่ไหวต้องโพสต์บนเฟซบุ๊กร้องเรียนผ่านโลกออนไลน์ แล้วก็ได้ผลเสียด้วย เพราะกลายเป็นข่าวดังที่สื่อทุกสำนักพร้อมด้วยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพากันยื่นมือให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ป้องกันไม่ให้บริษัทโครงการบิดพลิ้ว ตัวแทนผู้เสียหาย ที่เกรงจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงเข้าร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เข้าร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)
พันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการและโฆษกสคบ. บอกว่า โครงการที่เป็นปัญหามีทั้งหมด 5 โครงการทั่วกรุงเทพ ฯ ผู้เสียหายรวมกลุ่มกันกว่า 200 ราย ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท
สคบ. จะดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ผู้บริโภคที่สามารถเจรจาตกลงกับผู้ประกอบธุรกิจได้ 2. ผู้บริโภคที่ไม่รับข้อเสนอของผู้ประกอบธุรกิจในการคืนเงินโดยวิธีการผ่อนชำระ และมีความประสงค์ไปใช้สิทธิทางศาลด้วยตนเอง 3. ผู้บริโภคที่ไม่สามารถตกลงกับผู้ประกอบธุรกิจได้ สคบ. จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย แก้ไขเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภคต่อไป
เมื่อเรื่องออกสื่อ และไปถึงหน่วยงานภาครัฐ มันช่วยกระตุ้นให้เจ้าของโครงการยอมออกมาแจ้งข่าวกับผู้เสียหาย ผ่าน “เพจเฟซบุ๊ก เป็นหนังสือชี้แจงจาก บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ โดยอ้างถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงัก แต่บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจองซื้อห้องชุด จึงตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจะติดต่อลูกค้าเป็นรายบุคคล หากลูกค้าท่านใดตกหล่นและยังไม่ได้รับการติดต่อ สามารถติดต่อเข้ามาได้โดยตรงกับหน่วยงานพิเศษที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงขออภัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามเคลียร์ปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการทั้งหมดต่อไป แต่... สุดท้ายก็เงียบ !
ผู้เสียหายแห่ฟ้องร้องเอาผิดทางกฏหมาย...เรียกเงินคืน !
ภายใต้ความเดือดเนื้อร้อนใจของฝั่งผู้ซื้อ!*วันนั้น 28 มิถุนายน 2565 ผู้เสียหายนับร้อยรวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค พร้อมด้วยทีมกฎหมายมาร่วมให้ข้อแนะนำ โดยกลุ่มผู้เสียหายฯ ขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ จากความเสียหายข้างต้น โดยทุกคนได้ข้อสรุปตรงกัน “ต้องการยกเลิกสัญญา” พร้อมเรียกเงินคืนทั้งหมด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเร่งช่วยเหลือในขั้นตอนแรกด้วยการเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ ดังนั้น หากไม่มาตามนัด “จะเปิดศึกใหญ่ ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาล”เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดียึด-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยจ่ายคืนให้ผู้เสียหาย” *
แทบไม่น่าเชื่อว่า ในช่วงเวลาเกือบ 5 เดือน หลังจากที่ผู้เสียหายมาร้องเรียน กลับไม่มีความคืบหน้าจากฝั่งผู้ประกอบการ ถึงแม้ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นัดมาเจรจาไกล่เกลี่ย แต่ก็ได้รับคำตอบแค่ ... ขอเลื่อนออกไปก่อน
กระทั่ง 8 กันยายน 2565 ผู้เสียหายและตัวแทนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าไปพูดดคุย ที่สำนักงานของผู้ประกอบการ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ โดย นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า มีการพูดคุยกับพนักงานตัวแทนเจรจา ได้คำตอบว่า บริษัทฯ ได้เงินลงทุนจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาแก้ไขปัญหา และคืนเงินให้กับลูกค้า แต่เงินทุนจะมาเป็นรายเดือน ดังนั้น จะคืนเงินให้ผู้เสียหายตามลำดับที่ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่งหาก เงินทุนก้อนแรกหมดแล้ว ผู้เสียหายลำดับถัดไปจะต้องรอเงินทุน จากญี่ปุ่นในเดือนต่อไป ทางบริษัทฯ จึงจะนำมาเฉลี่ยจ่าย ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผน คืนเงินเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบ 4 เดือน ซึ่งถ้าผู้เสียหายยอมรับเงื่อนไขในช่วงเดือนกันยายน 2565 (เนื่องจากเป็นวันที่ไปคุยกับบริษัทฯ) จะเริ่มจ่ายเงินคืนให้ผู้เสียหาย ได้ตั้งแต่ เดือน มีนาคม 2566 ส่วนคืนเงินแบบ 12 เดือน หากรับยอมรับเงื่อนไขนี้ ในช่วงเดือน กันยายน 2565 จะเริ่มจ่ายเงินให้ผู้เสียหาย ได้ตั้งแต่ เดือน พฤศจิกายน 2565 ซึ่งยอดเงินที่คืน ไม่มีดอกเบี้ยให้ ทั้ง 2 เงื่อนไข
แต่... เชื่อไหมว่า นี่คือ กลวิธีฉ้อฉล ของ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ... เพราะนับตั้งแต่อ้างว่า จะจ่ายเงินคืนให้กับผู้เสียหาย ทว่าเรื่อง กลับเงียบยาวจนถึง 28 พฤศจิกายน 2565 ถึงแม้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเพียรพยายามติอต่อกับผู้บริหารบริษัท หรือ เจ้าหน้าที่ซึ่งเคยเป็นตัวแทนเจรจา ทุกคน กลับทำตัวล่องหนกันหมด
ผู้เสียหายบางรายเล่าให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟังว่า เคยนัดพรรคพวก บุกไปถึง สำนักงาน แต่เจ้าหน้าที่ ไม่ยอมให้เข้าด้านใน อ้างว่า บริษัทปิดตัวแล้ว สุดท้ายเรื่องนี้ ถึงขั้นต้องฟ้องร้องกันในชั้นศาลแน่นอน เพราะผู้เสียหายบางราย และ บางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวต่างชาติ เริ่มดำเนินการในส่วนนี้แล้ว
ออลล์ อินสไปร์ฯ ย้ายที่อยู่ ไม่แจ้งผู้เสียหาย
17 กุมภาพันธ์ 2566 ตัวแทนฝ่ายพิทักษ์สิทธิและฝ่ายกฏหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ไปติดตามความคืบหน้าให้กับกลุ่มผู้เสียหายจากคอนโดฯ 4 ปี สร้างไม่เสร็จ กับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ฯ ที่อาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค บางนา โดยเมื่อเข้าไปติดต่อประชาสัมพันธ์ด้านล่างของอาคารฯ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ได้แจ้งว่า บริษัทฯ ได้แจ้งย้ายที่อยู่ออกไปแล้ว โดยให้ติดต่อทางอีเมลและโทรศัพท์ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคติดต่อไป กลับไม่มีผู้รับสาย ได้ย้ายที่อยู่โดยไม่แจ้งต่อกลุ่มผู้เสียหายจากคอนโดฯที่สร้างไม่เสร็จตามสัญญา
ในเมื่อมาตรการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดำเนินการให้บริษัทออลล์ อินสไปร์ รับผิดชอบกับผู้เสียหาย ไม่เป็นผล จึงต้องยื่นฟ้องคดีแพ่ง และ พ่วงฟ้องคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง
20 กรกฎาคม 2566 ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อคอนโดมิเนียมจากโครงการ ออลล์ อินสไปร์ฯ เดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง และศาลแขวงพระนครเหนือ โดยมี ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ และนักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มาช่วยเหลือผู้เสียหาย ในการยื่นฟ้อง เพื่อเรียกเงินคืนตามสัญญาจะซื้อจะขาย เนื่องจากผิดสัญญาก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด ดังนั้น ผู้เสียหาย ที่จ่ายเงินจอง -เงินดาวน์ – เงินทำสัญญา – เงินผ่อนแต่ละงวด ไปแล้ว ต้องการเรียกเงินคืนทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย การยื่นฟ้องครั้งนี้ ดำเนินการในนามของผู้เสียหายแต่ละราย โดยมีจำเลย คือ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ ที่เป็นคู่สัญญา ซึ่งการยื่นฟ้องแยกตามศาล เนื่องจากเป็นไปตามทุนทรัพย์ของผู้เสียหายแต่ละรายฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี ซึ่งการที่ผู้เสียหาย ตัดสินใจยื่นฟ้อง บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ เพราะผู้บริหาร เข้าข่ายเจตนาฉ้อเจ้าหนี้ เห็นได้ชัดเจน ทั้งจากการที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำหนังสือไปถึงประธานกรรมการ เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2565 ขอเชิญประชุมเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่สิ่งที่ได้รับกลับมามีแต่ความเพิกเฉย ไม่แม้แต่จะส่งตัวแทนมาพบกับผู้เสียหาย กระทั่งมีผู้เสียหายบางคนรอคอยไม่ไหว ได้ร้องขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยพาไปถึงสำนักงานใหญ่ เลขที่ 4345 ภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค ชั้น 18 เขตบางนา กรุงเทพฯ แต่พบแค่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ที่เสนอแผนชดเชยค่าเสียหายผ่อนชำระเป็นรายงวด ต่ำสุด 1 งวด มากสุด 12 งวด ตามแต่การทำข้อตกลงของผู้เสียหายแต่ละคน มีบางคนยอมทำตามข้อเสนอของบริษัท แต่ปรากฏว่า บริษัทก็ยังเบี้ยวหนี้ เพราะจ่ายแค่ 1 งวด แล้วหายไปเลย ไร้ช่องทางการติดต่อ จนกระทั่ง วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 บริษัทฯ จึงได้มีหนังสือแจ้งย้ายสำนักงานแห่งใหม่ไปยัง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ จึงทราบว่า ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปอยู่ เลขที่ 8/7 ซอยนวมินทร์ 85 แยก 2-5 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ ฯ และยังพบข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ด้วยว่า บริษัท ออลล์ อินสไปร์ฯ มีรายงานเหตุผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ มียอดคงค้างตราสารหนี้ รวม 2,494.20 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่าเป็นปัญหาในการฟ้องคดีแพ่ง ถึงแม้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ และเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี แต่หากจำเลยไม่มีทรัพย์มาจ่าย ก็ทำอะไรผู้ประกอบการไม่ได้ อีกทั้งภาระยังตกเป็นของผู้เสียหาย ในฐานะโจทก์ที่ต้องไปดำเนินการหาทรัพย์ เพื่อมายื่นร้องขอบังคับคดีกับกรมบังคับคดี
ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอาจยื่นฟ้องคดีอาญาด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดการลงโทษผู้ประกอบการ หากบริษัทฯ มีเจตนาไม่ชำระหนี้คืนให้ผู้เสียหาย ทั้งที่ ผู้เสียหาย ต่างให้โอกาสยอมรับการผ่อนชำระของบริษัทฯ มาหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อมีข่าวว่าบริษัทฯ ได้ขายโครงการดิ เอ็กเซล ลาซาล 17 ให้กับ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด แล้ว ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 มูลค่าราคาซื้อขายรวมจำนวนทั้งสิ้น 480 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีการชำระเงินคืนให้กับผู้เสียหายเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งเวลานี้ มีผู้เสียหายบางกลุ่มที่ยื่นฟ้องกันเองและได้รับชัยชนะ มีคำพิพากษาจากศาลแล้ว แต่ฝ่ายจำเลยกลับเพิกเฉย ผู้เสียหายจึงรวมตัวกันแจ้งความคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง **ซึ่งการพิจารณานัดสืบพยานในชั้นศาล ทั้งคดีแพ่ง ลากยาวจากปี 2566 ข้ามมาจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ส่วนคดีอาญา ยื่นฟ้อง คดีอาญายื่นฟ้องเป็นโจทก์ร่วมกัน 31 คน ศาลนัดไต่สวนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 **
ยังมีประเด็นให้ตามต่อ ตอน 2 "ออลล์ อินสไปร์ ฯ หนี้สินล้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย ! อ่านได้จากลิงก์ https://ffcthailand.org/news/allinspireseries2
อ่านเต็มอิ่ม
ตอน 1 แรงกระเพื่อมจากผู้เสียหาย ชี้เป้าออลล์ อินสไปร์ฯ ตัวการใหญ่
https://ffcthailand.org/news/allinspireseries1
ตอน 2 ออลล์ อินสไปร์ ฯ หนี้สินล้นถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย !
https://ffcthailand.org/news/allinspireseries2
ตอน 3 "ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้"
https://ffcthailand.org/news/allinspireseries3