ผู้ให้บริการโทรคมนาคมเหลือ 2 ค่าย ผู้บริโภคไร้ทางเลือก ตอกย้ำการผูกขาดคุณภาพบริการ วอนกสทช.ควบคุมราคา
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 05-07-2022 11:20
หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม

ผู้ให้บริการมือถือเหลือ 2 ค่าย ตอกย้ำผู้บริโภคขาดทางเลือก หมอลี่ ชี้ควบรวมค่ายมือถือ ผู้บริโภคได้รับผลกระทบด้านคุณภาพมากที่สุด องค์กรผู้บริโภควอน กสทช.ควบคุมราคา พร้อมเสนอเปิดเผยข้อมูลคุณภาพบริการ การกำกับ FUP (Fair Use Policy) และสร้างระบบรับเรื่องร้องเรียนแก้ปัญหาผู้บริโภค
หลังจาก ทรูและดีแทคประกาศแผนควบรวมกิจการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2564 AIS จึงปรับกลยุทธ์ให้ทันเกมด้วยการประกาศ วานนี้ (4 ก.ค.65 ) เข้าซื้อกิจการ 3BB บรอดแบรนด์ มูลค่า 19,500 ล้านบาท จาก บริษัท JAS และ AIS ยังเข้าซื้อหน่วยลงทุน JASIF 12,920 ล้านบาท จาก JAS รวมเป็นมูลค่า 32,420 ล้านบาท และด้วยจำนวนลูกค้าของ 3BB จะทำให้ AIS ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดบรอดแบนด์ ที่เป็นคู่แข่งกับ True ทันที ทำให้ แผน True ควบรวมกับ Dtac เพื่อหวังคุมตลาดรายใหญ่แข่งกับ AIS จึงเล็กลงทันที อย่างไรก็ตาม AIS ต้องขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งหากได้รับอนุมัติ ธุรกรรมจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ส่งผลให้ AIS ขยายฐานลูกค้า ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของบรอดแบนด์ประเทศไทยทันที (ในแง่จำนวนผู้ใช้บริการ) จากปัจจุบันที่ "True" เป็นผู้นำอยู่ โดย ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 ทรู ออนไลน์ มีฐานลูกค้า 4.7 ล้านราย, 3บีบี 3.6 ล้านราย และเอไอเอส ไฟเบอร์ 1.8 ล้านราย
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค หาก AIS รวมกับ 3BB ซึ่งราคาอาจขึ้นไปมากกว่านี้ เทียบให้เห็นกันชัดๆ จากปัจจุบัน ราคาเฉลี่ย อินเตอร์เน็ตบ้าน ของ AIS อยู่ที่ประมาณ 400 กว่าบาท , 3BB อยู่ที่ 600 บาท ดังนั้น เมื่อดีลซื้อกิจการสำเร็จ ราคาอินเตอร์เน็ตบ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินจากราคานี้ ทำให้ ผู้บริโภค ไม่มีตัวเลือกทางด้านราคา อย่างไรก็ตาม หากมองตามข้อเท็จจริง ราคาอินเตอร์เน็ตบ้านเป็นแบบนี้มา 10 ปี ผู้บริโภคจึงไม่รู้สึกว่าต้องจ่ายแพง แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบ ก็คือเรื่องคุณภาพแทนที่จะได้ความเร็วตามเทคโนโลยีใหม่กลับอยู่ในสภาพคงที่
ด้าน ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า กสทช.ต้องกำกับควบรวมก็ต้องมีผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น้อยกว่า 3 ราย ปัญหาใหญ่คือ ประเด็นผู้บริโภคขาดอำนาจต่อรองไม่รู้ข้อมูล ดังนั้นกสทช.ควรใช้อำนาจบทบาทในการกำกับด้านคุณภาพและบริการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคทั่วไป มิเช่นนั้นจะเท่ากับกสทช.ละเลยและละเมิดสิทธิผู้บริโภคเสียเอง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไหนรวมกับผู้ประกอบการรายไหน เพื่ออะไร ผู้บริโภคจะรู้ทีหลังเสมอ เรื่องสำคัญคือ การรวมกันจะมีประโยชน์อย่างไรในการให้คุณภาพบริการที่ดีขึ้นหรือไม่ในราคาที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหามาโดยตลอดสำหรับการรวมกันของทรูและดีแทค ทำให้เห็นอำนาจในการจัดการส่วนแบ่งการตลาดมือถือมากขึ้นส่วน AIS ซึ่งกำลังจะซื้อ 3BB (JASmine) เป็นแนวทางการถือครองตลาดในส่วนเน็ตบ้านซึ่งเป็นกระแสสำคัญในช่วงโควิด19 ที่ผ่านมาเพราะคนเกือบทุกกลุ่มต้อง work from home เด็กก็ต้องเรียนจากบ้าน เท่ากับว่า ผู้ประกอบการ 2 กลุ่มใหญ่เตรียมแบ่งตลาดเป็น 2 ส่วน คือบริการมือถือและบริการเน็ตบ้าน โดยไม่ต้องแข่งขันกันเรื่องราคา ตอกย้ำให้ผู้บริโภคขาดทางเลือกมากขึ้น เรื่องการกำหนดราคาแพ็คเกจที่เหมาะสมซึ่ง กสทช.ควรมีบทบาทสำคัญ ในการบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งขณะนี้ มีค่าใช้จ่าย โดยเฉลี่ยกว่า 700 บาท สิ่งสำคัญต่อมา คือบริการที่เหมาะสมกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่มในราคาที่เหมาะสมด้วย ผู้บริโภคทั่วไปไม่ควรจ่ายค่าบริการมือถือเกิน 200 บาท/ เดือน เน็ตบ้านไม่ควรเกิน 500 บาท/ เดือน โดยประเด็นของการสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศนั้น ยังไม่เห็นแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่ส่งเสริมเฉพาะด้านความบันเทิง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการจะคิดแพคเกจจับคู่กับผู้ใบริการเนื้อหาอย่างเช่น Netflix Disney หรือสายเกมเมอร์ สิ่งที่ กสทช.ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการในลักษณะของการควบรวมหรือผูกขาดตลาด คือ กสทช.ควรจะเร่งกำกับคุณภาพมาตรฐาน และสอบถามถึงแผนการดำเนินการที่ชัดเจนของผู้ประกอบการทั้งในระบบโครงข่ายมือถือและการให้บริการอินเตอร์เน็ต Fiber Optic หรือเน็ตบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการดำเนินการเพื่อเร่งให้ผู้บริโภคเข้าถึง การใช้ Application ที่เหมาะสมมากกว่าการกระตุ้นทางความบันเทิง ซึ่งผู้ประกอบการค่ายมือถือมีความถนัดที่จะนำเสนอ Content ทั้งรูปแบบ video on demand และ ott อยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นการทำงานของผู้ประกอบการกับหน่วยงานด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมการศึกษาด้านสุขภาพที่ให้ผู้บริโภคเข้าถึงการดูแลสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การแก้ปัญหาเก่าอย่าง SMS / Call Center หลอกลวงยังคงอยู่ และปัญหาใหม่กำลังจะมา ทั้งค่าใช้จ่ายเน็ตสูงเพราะมีแนวโน้มการผูกขาดตลาดโทรคมนาคมไม่กี่เจ้า ยังไม่นับรวมไปถึงปัญหาคุณภาพบริการ ความครอบคลุม กลุ่มเปราะบาง ความแรง ความเร็ว ของสัญญาณเน็ต ปัญหาเรื้อรังของการส่งข้อความ การโทรก่อกวนหลอกลวง การบ่นถึงปัญหาในโลกโซเชียลเกี่ยวกับบริการของค่ายมือถือเน็ตล่มอยู่เป็นประจำ ดังนั้นประเด็นสำคัญในยุค Open Data ของการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานของรัฐ คือการสร้างระบบรับเรื่องร้องเรียนการเปิดเผยข้อมูลคุณภาพบริการ การกำกับ FUP (Fair Use Policy) ที่ผู้บริโภคเข้าใจตรวจสอบแพคเกจ ความเร็วตามเกณฑ์ ให้มีเครื่องมือตรวจสอบและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้การควบรวมเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ควรจะมีบทบาท ร่วมกับกสทช. ต่อบริษัทที่ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ดำเนินการจัดการปัญหาคุณภาพบริการ ทั้ง 2 หน่วยงาน หรือหน่วยงานกำกับอื่นควรร่วมกันดำเนินการให้มีบทลงโทษ ซึ่งบทบาทนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคจะร่วมดำเนินการติดตาม ให้มีแนวปฏิบัติที่เป็นจริงต่อไป
นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค บอกว่า กรณีของ AISเข้าซื้อธุรกิจของ 3BB ไม่ต่างจาก กรณี TRUE ควบรวม DTAC ทำให้ตลาดลดการแข่งขัน จึงเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้มีทางเลือกน้อยลงอย่างแน่นอนถึงแม้เอกชนมีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงการประกอบกิจการ แต่ไม่มีสิทธิ์ทำตามใจชอบ นั่นเพราะ.. “การทำธุรกิจคลื่นความถี่” ที่มีผู้บริโภคเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น กสทช. ต้องพิจารณา 2 ดีลนี้อย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดเป็นปัญหาใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะการที่เอกชนอาจใช้แผนการตลาด “ขายพ่วง PACKAGE “ ถือเป็นการบีบบังคับ ผู้บริโภค อย่างไร้ทางเลือก
ทั้งนี้ “สภาองค์กรของผู้บริโภค”เตรียมนำเรื่องเข้าหารือในวง”อนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะมีจุดยืน อย่างชัดเจน คัดค้าน การควบรวมกิจการ หรือ การซื้อหุ้นในธุรกิจใด ๆ ที่ทำให้เกิด “อำนาจเหนือตลาด”โทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค อย่างถึงที่สุด