TRUE ควบ DTAC พ่นพิษ ค่ายมือถือรื้อถอนสถานีฐานรับ-ส่งกระจายสัญญาณ เหลือแค่เสาดัมมี่ กระทบผู้บริโภค ความเร็วอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำ สวนทางค่าบริการแพง
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 03-11-2023 17:29
หมวดหมู่: สื่อและโทรคมนาคม
วันนี้ (3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภค เรื่องการแจ้งรื้อถอนกรณีสถานีฐานรับ-ส่งสัญญาณดีแทค โดยกิตติศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “รื้อถอนสถานีฐานรับ-ส่งสัญญาณดีแทค” มีหนังสือลงวันที่ 26 กันยายน 2566 จาก “บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด” ส่งถึงบริษัทคู่สัญญารายย่อย โดยระบุว่าจะเข้า “รื้อถอนสถานีฐาน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้จะคืนเงินประกันการเช่าให้กับคู่สัญญาภายใน 30 วัน จากประเด็นนี้ เป็นข้อมูลที่ผู้เสียหายมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากทรูมูฟ ไม่แจ้งเหตุผลใดๆ และตอนนี้มีผู้ประกอบการอีกหลายรายก็เจอปัญหานี้เหมือนกันบางรายที่ให้เช่าฐานติดตั้งสัญญาณ TRUE ก็ถูกถอนฐานรับ-ส่งกระจายสัญญาณเหมือนกัน เท่ากับว่าก่อนควบรวมแต่ละพื้นที่จะมีเสาและอุปกรณ์กระจายสัญญาณ ทั้งของ TRUE และ DTAC แต่หลังจากควบรวมจะเหลืออุปกรณ์ส่งสัญญาณแค่พื้นที่ละ 1 เจ้า และที่สำคัญอย่างยิ่ง แม้เสาสัญญาณยังไม่รื้อถอนออกไป แต่กล่องรับ-ส่งสัญญาณ DTAC ถูกรื้อถอนไปก่อนหน้า จึงทำให้ตอนนี้ผู้ใช้บริการในพื้นที่เจอปัญหาอินเทอร์เน็ตอืด เพราะต้องแย่งสัญญาณกัน ทั้งที่จ่ายราคาแพง
นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคอีกจำนวนหนึ่งที่มาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจาก TRUE ควบ DTAC และอาจไปจับมือกับ AIS โดยเฉพาะเครือข่ายของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เช่น คุณฐิตินัดดา รักกู้ชัย กลไกโซนธนบุรีเหนือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ที่บอกว่า ใช้อินเทอร์เน็ตราย ของ DTAC เดือนละ 699 บาท ก่อนหน้าที่ 2 ค่ายมือถือควบรวม สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งเดือน แต่พอหลังควบรวมการใช้งานเหมือนเดิมแต่สัญญาณกลับอืด ดูออนไลน์อะไรไม่ได้เลย พอใช้ LINE เพื่อโทรศัพท์ก็เกิดปัญหาเพราะไม่มีสัญญาณ เมื่อแจ้งไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการกลับบอกให้จ่ายเงินซื้อเน็ตเพิ่ม แถม CALL CENTER 1678 ติดต่อยากมาก
นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคอีกมาก ที่เข้ามาร้องเรียนกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ล้วนเจอปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ต ไม่ตรงตามแพคเกจที่ซื้อ เช่น รายที่ใช้ DTAC บอกว่าใช้แพคเกจเน็ตไม่อั้น-ไม่ลดความเร็ว 20 Mbps ต่อวินาที ( Mbps ย่อมาจาก Megabit per second ) แต่เมื่อตรวจสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต กลับพบว่า ความเร็วแค่ 2 -3 Mbps ได้ร้องเรียนไปยังเครือข่ายที่ให้บริการ แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข มีผู้บริโภคอีกรายที่ใช้แพคเกจรายเดือน มาร้องเรียนว่าค่ายมือถือไม่ชดเชยเวลาการโทรออกที่ใช้ไม่ถึงสิทธิในแต่ละเดือน แต่กลับกันหากใช้งานเกินกว่าแพคเกจ กลับถูกเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยต่อนาทีในแพคเกจนั้นๆ อีกรายที่เป็นผู้เสียหาย บอกว่า เจอปัญหาแพคเกจอินเทอร์เน็ตราคาแพงขึ้นแต่สวนทางกับคุณภาพที่ลดลง โดยผู้ร้องติดตั้งอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ที่บ้าน ได้ตรวจสอบราคาแพคเกจ พบว่ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เมื่อช่วงต้นปี 2566 โดยแพคเกจเริ่มต้นราคา 299 ปรับเพิ่มเป็น 399 จากนั้น ช่วงเดือนเมษายน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 499 และ 599
นี้เป็นแค่ตัวอย่างของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ นับจากวันที่ กสทช. ลงมติ ด้วยเสียงข้างมาก 3:2 ไฟเขียว ควบกิจการ TRUE-DTAC เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 มาตรการเฉพาะที่ทั้งสองบริษัทต้องปฏิบัติคือ ต้องลดค่าบริการเฉลี่ย 12% และให้แยกแบรนด์ทำตลาดกันไปก่อน 3 ปี แต่กลับมีผู้บริโภคมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ความเร็วสปีดอินเทอร์เน็ตที่ได้ลดลง คุณภาพต่ำลง สวนทางการราคาที่ให้บริการรวมทั้งราคาของ 2 รายที่เหลือในตลาดคือ TRUE และ AIS กลับเท่ากันทุกแพคเกจ ทั้งที่ TRUE- DTAC อ้างเงื่อนไขควบกิจการ เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านโครงข่ายที่เป็นที่เป็นการลงทุนซ้ำซ้อน และยินยอมในมาตรการเยียวยาที่มติกสทช.กำหนดให้ต้องมีการลดค่าบริการเฉลี่ย 12 % ตามเงื่อนไขมาตรการเฉพาะของผู้ประกอบการในการควบรวมธุรกิจ แต่ก็กลับไม่มีการปรับลดราคาแต่อย่างใด
นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า จากปัญหาข้างต้น ขอเรียกร้องให้ กสทช. ต้องกำกับ-ดูแลเอกชนต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขควบกิจการ นั่นคือ ลดค่าบริการเฉลี่ย 12 เปอร์เซ็นต์ ต้องกำหนดให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากค่าบริการที่แพงแต่คุณภาพบริการแย่ลง ซึ่งในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ กสทช.ได้เชิญมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าหารือ ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำปัญหาและผลกระทบเหล่านี้มากระตุ้นให้ กสทช. ต้องเร่งดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจาการใช้บริการฯ สามารถร้องเรียนมาได้ที่ https://ffcthailand.org/complaint และแสดงความคิดเห็น มาได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค