มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

เรื่องร้องเรียนจากเคสว่าด้วย ปม "ทองคำ" ผสม "นาก"

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 18-04-2025 11:05

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

เรื่องร้องเรียนจากเคสว่าด้วย ปม "ทองคำ" ผสม "นาก"

คุณเคยซื้อ "ทองคำ" ผสม "นาก" มั้ย? ถ้าซื้อมาแล้วจะขายคืนหรือจำนำแบบทองได้มั้ย มีความเป็นสากลมากแค่ไหน หรือว่าซื้อมาแล้วทำอะไรอีกไม่ได้เลย ถ้าขายคืนไม่ได้เสียดายเงินที่จะซื้อจริงๆ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเชื่อว่าหลายคนก็คงสงสัยเหมือนกับผู้ตั้งคำถามนี้ ถ้างั้นเรามาลองศึกษาจากเคสที่มีผู้มาร้องเรียนกับฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอความช่วยเหลือ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า... เจ้าตัวได้ไปซื้อแหวน "ทองคำ" ผสม "นาก" จากร้านค้าทองแห่งหนึ่ง สนนราคา 2,400 บาท ทีนี้ได้ถามเพื่อความชัดเจนหากต้องการนำมาขายคืนจะให้เท่าไหร่ อีกฝ่ายบอกว่าจะรับซื้อคืนในราคา 1,000 บาท ผ่านไปไม่ถึงเดือนเจ้าตัวอยากขายคืน จึงไปที่ร้านค้าทองเจ้าเดิม แต่ทางร้านบอกราคารับซื้อมาแค่ 400 บาทเท่านั้น โดยอ้างว่ามีเปอร์เซนต์ทองอยู่น้อย อ้าว! อย่างงี้เล่นตุกติกกันนี่นา ก็ไหนบอกจะรับซื้อคืนในราคา 1,000 บาท เมื่อได้ฟังเรื่องราวจากเคส เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำ โดยให้ผู้ร้องนำสินค้าไปตรวจเปอร์เซนต์ทองจากร้านทองแห่งอื่นๆ เพื่อยืนยันหลักฐานการตุกติกของร้านทองที่กดราคารับซื้อ จากนั้นนำหลักฐานต่างๆไปที่สถานีตำรวจแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้ออกหมายเรียกเจ้าของร้านทองที่เล่นตุกติกกดราคารับซื้อมาสอบข้อเท็จจริง ผู้ร้องรับทราบและจะดำเนินการตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำ

มีใครสงสัยบ้างมั้ยว่ามีข้อกฏหมายไหนที่เอาผิดได้บ้างหากมีใครไปเจอเคสลักษณะนี้อีก ถ้างั้นมาฟังการอธิบายจาก คุณกชพร เกลี้ยงขาว ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า เหตุนี้เข้าข่ายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ได้แก่ ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง รวมถึง ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ

“การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา มาตรา 22 การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้น จะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ ข้อความต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

“ความผิดและบทลงโทษ” มาตรา 47 เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น : จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้ากระทำผิดซ้ำอีก : จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271” บัญญัติว่า “ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำ นั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”

ขอย้อนประเด็นคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ที่ให้ผู้ร้องนำสินค้าไปตรวจเปอร์เซนต์ทองจากร้านทองแห่งอื่นๆ เพื่อยืนยันหลักฐานการตุกติกของร้านทองที่กดราคารับซื้อ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเปอร์เซนต์ทองคำ มีสูงหรือต่ำ !
แอดมินไปหาข้อมูลจากแวดวงค้าทองคำ เค้าอธิบายไว้แบบนี้... "นาก" เป็น"ทองกะรัต" หรือ"ทองเค" ประเภทหนึ่ง เกิดจากการนำ"ทองคำ" มาผสมผสานเข้ากับ "ทองแดง" และ"เงิน" โดยอัตราการผสม จะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่ง"นักผสมทอง"จะดูได้จากค่าที่เรียกว่า "กะรัต" หรือ "K" นั่นเอง โดยหากมีค่ากะรัตต่ำ ก็จะทำให้ปริมาณของทองแดงสูงขึ้นด้วย

ถ้าจะเอาคำจำกัดความหรือนิยามบ้านเราคือ ชิ้นงานที่มีสีออก pink gold หรือ rose gold ออกแดงๆส้มๆเหมือนสีทองแดง ซึ่งจริงๆมันก็มี ทองคำอยู่ 20-40% ซึ่งบางทีตอก 40% หรือบางทีก็ไม่ตอก เป็นอะไรที่กำกวมที่สุดในบรรดาทอง %

เอาง่ายๆมันคือ ทอง+ทองแดง หลอมรวมกัน ไม่ใช่ธาตุนากไม่มีธาตุนากในโลก มีหลายคนคิดว่าไม่ใช่ทอง จริงๆก็คือทองผสมทองแดง(หลอมเป็นเนื้อเดียวกัน) ซึ่งถ้าเทียบ % จริงๆตามร้านทองถ้าตอก 40% ทองจะอยู่ประมาณ 35% +- ถ้าเทียบ k ก็น่าจะอยู่ช่วง 8-9k

ในเมื่อนากมีทองตั้ง 40% งาน 9k มีทองแค่ 37.5% ทำไมขาย 9k แพงกว่า จนเริ่มมาเทสต์ % ของงานดู เลยอ๋อๆๆๆๆๆ ไอ้ 40% นี่หมายความว่าทองไม่เกิน 40% เหมือนกับทอง 90 บ้านเราคือมีทองไม่เกิน 90% ซึ่ง 76-77% ก็เรียกทอง 90 กันแล้ว

วิธีดูนากแท้ ดูยังไง เช็กด้วยตัวเองได้ไหม มาดูกัน แม้ว่าเครื่องประดับนากอาจไม่โดดเด่นเท่าเครื่องประดับประเภทอื่น แต่ก็ยังเป็นหนึ่งในเครื่องประดับที่ใครหลายคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันก็มีเหล่ามิจฉาชีพหลอกขายเครื่องประดับนากกันเป็นว่าเล่น แล้วเราจะมีวิธีดูนากแท้อย่างไรไม่ให้ถูกหลอกจากพี่มิจทั้งหลาย ในแวดวงค้าทองเค้าก็มาบอกวิธีสังเกตง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง

  1. สีของนาก : หากเป็นนากแท้จะมีสีออกสว่าง เงางาม ส่วนนากปลอมจะเป็นสีทองแดง ออกเข้ม ๆ หรือสีอมเหลือง

  2. รูปลักษณ์ภายนอก : เนื่องจากเครื่องประดับนากแท้จะมีมาตรฐานการทำที่สูง ดังนั้นวิธีสังเกตลักษณะภายนอกแบบง่าย ๆ ก็คือความเหมือนของแต่ละแพทเทิร์น( รูปแบบ) หากพบว่ามีความไม่เนี้ยบอยู่ ข้อต่อแต่ละชิ้นมีขนาดไม่เท่ากัน หรือลวดลายบิดเบี้ยวแตกต่างกันแสดงว่าเป็นนากปลอม

  3. ตัวอักษร 40% : โดยตัวเลข 40% ในที่นี้ก็คือเปอร์เซนต์ทองที่ใส่เข้าไปในเครื่องประดับนากชิ้นนั้น ซึ่งผู้ผลิตจะต้องตอกตราประทับนี้เข้าไปด้วย กรณีที่เป็นเครื่องประดับที่มีหลาย ๆ ชิ้นต่อกันอย่างเข็มขัดนากก็จะต้องมีการตีตราประทับนี้ลงไปในแต่ละข้อด้วยเสมอ ทั้งนี้หลาย ๆ ร้านอาจตอกชื่อภาษาจีนควบคู่ไปกับตรา 40% นี้ด้วย แต่ในปัจจุบันมิจฉาชีพก็มีการตอกตราลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรพิสูจน์ด้วยวิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย

4.หินเช็กทอง : นำเครื่องประดับนากมาฝนลงหินเช็กทอง เมื่อฝนเสร็จจะเห็นว่ามีสีของนากติดมาด้วยเป็นสีออกทองแดง (ทั้งนากแท้และนากปลอม) จากนั้นค่อยหยดกรดไนตริกลงบนรอยขูด หากพบว่ารอยหายไวภายในระยะเวลาสั้น ๆ แสดงว่ามีทองผสมอยู่น้อยมากหรือก็คือนากปลอมนั่นเอง ส่วนนากแท้จะทิ้งรอยของทองเอาไว้ต่างหน้า แม้ว่าจะพิสูจน์ได้จริงแต่ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดรอยหรือตำหนิหลังจากพิสูจน์ได้แต่ไม่ได้มีผลต่อราคาขายแต่อย่างใด ดังนั้นหากคุณต้องการพิสูจน์ด้วยวิธีนี้จริง ๆ จะต้องทำใจในจุดนี้ด้วยนะ

5.กรดไนตริก : นอกจากจะหยดลงบนหินเช็กทองแล้ว คุณสามารถหยดกรดไนตริกลงบนเครื่องประดับนาก หากหยดลงไปแล้วมีฟองสีเขียว ๆ แสดงว่าเป็นนากปลอม ส่วนนากแท้จะไม่มีฟองเขียวขึ้นมาเลย

6.เผาไฟ : หากนำเครื่องประดับนากไปเผาไฟแล้วจะเกิดสีดำ แต่หากหยดกรดไนตริก (น้ำยาตรวจทอง) ลงไปบริเวณที่ดำแล้วนากกลับมาเป็นสีเดิมแสดงว่าเป็นนากแท้เนื่องจากมีส่วนผสมของทองที่ทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดี ส่วนนากปลอมจะหลอมละลายไประหว่างเผาไฟทันที

7. ใช้เครื่องตรวจ : ในปัจจุบันร้านทองชั้นนำได้มีการใช้เครื่องตรวจเครื่องประดับในการพิสูจน์นากให้ลูกค้าได้ดูมากขึ้น ซึ่งเจ้าเครื่องตัวนี้มีคุณสมบัติจำแนกองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในนากโดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับนากแม้แต่น้อย เมื่อตรวจเสร็จแล้วพบว่ารหัส Au (ทองคำ) อยู่ที่ประมาณ 30-33% (โดยส่วนใหญ่) หรืออาจเจอนากแท้ 40% ก็มีแต่น้อยมาก ๆ (ขึ้นอยู่กับวิธีการผสมของแต่ละร้าน) ส่วนรหัส Cu (ทองแดง) อยู่ที่ประมาณ 60% ซึ่งปริมาณทองคำและทองเท่านี้จะพบได้นากแท้ตามร้านทองชั้นนำครับ แต่หากมีทองน้อยกว่า 30% แสดงว่าเป็นนากปลอมแน่นอน

นากใส่แล้วดำ เป็นนากแท้ไหม : เนื่องจากนากมีส่วนผสมของเงินอยู่ด้วย จึงอาจมีรอยดำหลังจากสวมใส่ไปได้สักพัก โดยเฉพาะใครก็ตามที่มีเหงื่อเค็มก็จะยิ่งทำปฏิกิริยากับนาก ส่งผลให้นากดำง่ายขึ้น สำหรับวิธีแก้รอยดำนั้นแนะนำให้ล้างด้วยน้ำยาล้างเครื่องประดับหรือหากไม่สะดวกล้างเอง/กลัวตัวเองจะทำผิดวิธี แนะนำให้ร้านทองทำสีและชุบใหม่จะดีที่สุดครับ

นากแท้ ขายได้ไหม ขายได้สิ โดยทั่วไปทางร้านจะรับซื้ออยู่ที่ 25-30% โดยอิงจากราคารับซื้อทองคำแท่งบาทละ คูณกับ 20% ยกตัวอย่างเช่น ราคาทองคำแท่ง 40,000 * 20% หรือ 30% = บาทละ 8,000/12,000 บาท

นากแท้ จำนำได้ไหม : ได้สิ เนื่องจากนากมีส่วนผสมของทองคำ เว้นเสียแต่ว่าเป็นนากปลอม อันนี้ถือว่าผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษอาญาจำคุก 3 ปี

อย่างไรก็ตามในประเทศไทย การผลิต"นาก" มักจะใช้ค่ากะรัตอยู่ที่ 14K-18K โดยมีส่วนผสมของ"ทองคำ" อยู่ด้วย 40-60% ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับ"นาก"ของทางยุโรปที่จะมีให้เลือกตั้งแต่ 9K-22K โดยการทำ"นาก" จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของสีด้วย เพราะส่วนประกอบที่สำคัญในการผสมผสานกันอย่างอัลลอยด์ของแต่ละแห่งจะมีปริมาณที่แตกต่างกันทำให้เกิดความแตกต่างของสี เช่นการมีส่วนผสมของ Pink Gold เข้าไปด้วย นากที่ได้ก็จะออกมามีลักษณะสีที่แตกต่างจากเดิม ซึ่งก็ทำให้เพิ่มมูลค่าราคาทองไปได้ด้วยนั่นเอง ในสมัยก่อน นากจะถูกนำมาใช้ในการผลิตเครื่องประดับและใช้เป็นเครื่องตกแต่งอาทิเช่น เข็มขัด สร้อย กำไลหรือแหวนต่างๆ แต่สำหรับในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเครื่องประดับที่ทำจากนากนั้นได้รับความนิยมลดน้อยลงไปมากทีเดียว เนื่องจากการซื้อทองเพื่อเก็งกำไรนั้นจะได้ราคาทองที่ดีกว่า ซึ่งในส่วนของนากจะซื้อกันเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับกันเพียงอย่างเดียว

ปัจจุบันมีผู้ค้าขายทองหลายๆ แห่งนำเอาส่วนผสมอย่าง Pink Gold มาใช้ในการผลิตนากกันมากขึ้น เพื่อให้ได้ความสวยงามที่พร้อมใช้กันมากยิ่งขึ้นเช่น แหวน กำไล ต่างหู เป็นต้น ซึ่งก็ได้รับความนิยมกันมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับในเรื่องของความสวยงามด้วยนั่นเอง โดย Pink Gold (ทองชมพู) มีทองเป็นส่วนผสมร้อยละ 75 หรือประมาณ 18k รองลงมาคือโลหะอื่น ๆ และสุดท้ายคือทองแดงที่จะมีส่วนผสมเพียงเล็กน้อย ทำให้สีของทองออกเป็นสีชมพู ไม่แดงมาก

Red Gold มีทองเป็นส่วนประกอบร้อยละ 75 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Pink Gold เป็นอย่างมาก แต่จุดต่างที่สำคัญก็คือ จะมีอัตราส่วนของทองแดงมากกว่าโลหะอื่น ๆ ทำให้สีออกแดง ไม่อมชมพูเหมือนทองชมพู และจุดต่างของ Red Gold กับนากคือมีความสุกใสกว่า

White Gold (ทองขาว) จะมีส่วนผสมของทองคำ แพลเลเดียม สังกะสี และนิกเกิล

หวังว่าเรื่องราวจากเคสและเรื่องราวเกี่ยวกับ “นาก” จะทำให้ผู้บริโภคได้ความเข้าใจและใช้สิทธิ์ของผู้บริโภคได้ตามข้อกฏหมาย ด้วยความปรารถนาดีจาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม