มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ช่อดอก “กัญชา” ขาดมาตรการควบคุมและกำกับอย่างจริงจัง บริโภคอาจอันตรายถึงชีวิต จี้ สธ. ควบคุม บังคับใช้กฎหมาย พร้อมบทลงโทษ

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 19-07-2022 11:28

หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ภาพประกอบข่าว

หลังจาก กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก”กัญชา”ออกจากยาเสพติด ประเภทที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้สามารถนำ “ช่อดอก, ใบ , เปลือก, ลำต้น,เส้นใย,กิ่งก้านและราก ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารอย่างแพร่หลาย ตามประกาศของ “กรมอนามัย “ เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ.2565 ได้กำหนดของสาร “เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล( Tetrahydrocannabinol : THC) ต้องไม่เกินร้อยละ 0.2

คำว่า “ปลดล็อก” ไม่ได้หมายความว่า จะถูกถอดออกจากฤทธิ์เสพติดแต่หมายถึงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ภายใต้กรอบกฎหมายเพราะแม้กัญชามีประโยชน์ ทางการแพทย์ แต่ “โทษ” ยังไม่หายไปโดยเฉพาะ “ช่อดอก” หรือ “ดอก” ไม่ควรนำมาปรุงอาหาร เพราะมีสาร THC (ทีเอชซี) ที่ฤทธิ์มึนเมาสูง

นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ไขข้อข้องใจกับ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยชี้ว่า “ช่อดอก” หรือ “ดอก “ ไม่แนะนำ ให้เอามาปรุงอาหาร เพราะมีสาร THC สูงเกินไป , ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ใช้ “ช่อดอก และ ดอก “ สำหรับผลิต ยาทางการแพทย์ เท่านั้น ส่วนการปรุงอาหารให้ใช้เฉพาะ “ใบสด” เท่านั้น แต่ละเมนูไม่ควรใช้ใบสดเกิน 2 ใบ ใน 1 มื้อ ไม่ควรกินเกิน 2 เมนู ที่สำคัญ ต้องระวัง หากนำใบกัญชา มาผัดน้ำมัน จะยิ่งอันตราย เพราะทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสาร THC ออกฤทธิ์ในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิม

แต่... ผู้บริโภค จะสามารถตรวจสอบ หรือ ทราบได้อย่างไรว่า บรรดาร้านอาหารประเภทปรุงสุก ทั้งขายหน้าร้าน และ ขายผ่านออนไลน์ จะใช้ปริมาณเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจ ใช้ “ช่อดอก และ ดอก “ นำมาปรุงอาหาร เพราะไม่มีการระบุไว้ให้ชัดเจน เหมือนกับ อาหารสำเร็จรูปที่มีการแจ้งไว้ข้างกล่องหรือข้างขวด หากผู้บริโภคที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เผลอรับประทานเข้าไป อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

สิ่งนี้เองที่ทำให้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อห่วงใยเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จึงเกิดคำถามว่า หน่วยงานใด จะเป็นผู้ตรวจสอบสถานประกอบกิจการอาหาร และจะมีวิธีการตรวจสอบอย่างไรว่า อาหาร และ เครื่องดื่มเหล่านั้นมีสาร THC ไม่เกินปริมาณที่กำหนด นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายอาหารปรุงสดที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับ รวมทั้งการไม่มีมาตรการควบคุมการขายอาหารทางออนไลน์ การขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานอย่างเป็นระบบถึงผลกระทบไม่พึงประสงค์

นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวด้วยความสงสัยและห่วงใยว่า “ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 พ.ศ.2564 ซึ่งออกตาม พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งใครฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษนั้น ได้ห้ามนำส่วนชองช่อดอกกัญชา และสาร THC ที่เกินกว่าร้อยละ 0.2 ที่ใส่ในอาหาร ทาง อย. จะตรวจสอบได้อย่างไรและมีระบบกลไกอะไรติดตาม ที่น่าสงสัยว่า อย. จะเข้ามากำกับอาหารที่ปรุงสดหรือร้านอาหารทั่วไปทั้งประเทศ

ด้วยหรือไม่ เพราะ อย. มักจะอธิบายว่าเป็นหน่วยงานดูเฉพาะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่บรรจุหีบห่อแล้ว หรือที่ผลิตในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ปัญหาที่ตามมาแม้มีประกาศ ห้ามไว้ ก็คือ กรณีที่ไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่าย จะไม่เข้าข่ายความผิด การใช้ในทางที่ผิดก็ยังคงแพร่กระจายไปได้ง่าย

ก่อนหน้านี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงข้อห่วงใย ในประเด็นการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาโดยที่ไม่มีมาตรการรองรับ เช่น ขาดการติดตามตรวจสอบและรายงานเรื่องผลกระทบอย่างเป็นระบบ ไม่มีช่องทางรับเรื่องร้องเรียน กรณีผู้บริโภคได้รับผลกระทบในการบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ระหว่างที่ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคมอย่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำแคมเปญให้ผู้บริโภคที่สนใจมาช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยหรือไม่ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมกัญชาในอาหารให้ติดป้ายประกาศหน้าร้าน ว่า “ร้านนี้ไม่มีกัญชา” ส่วนร้านที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมควรติดป้ายบอกให้ชัดเจนว่ามีการใช้กัญชา รวมถึงแจ้งข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาด้วย

ขณะนี้ มี “ ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลง ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา เนื้อหาของประกาศ สรุปสาระสำคัญดังนี้ “พิจารณาเห็นว่า กัญชา เป็นสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นมาตราการที่เร่งออกมาอุดช่องวางหลังกัญชาเสรีได้ 1 สัปดาห์ โดยหวังการจำกัดหรือควบคุมการใช้ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ดังนี้

  1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม
  2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร
  3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
  4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน
  5. มีผลตั้งแต่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่า หัวใจหลักของ “สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 “ มุ่งเน้น การจำกัด การครอบครอง “ช่อดอกของกัญชา” ซึ่งมีรายละเอียดการควบคุม การครอบครอง ในฐานะบุคคล, วิสาหกิจชุมชน ป้องกันการเสพกัญชา หรือการใช้เพื่อสันทนาการ ประกาศนี้ไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนส่วนใหญ่ และสามารถมีผลบังคับใช้ทางอาญา หากกระทำผิดตามประกาศฉบับนี้ ต้องรับโทษ ตามกฎหมาย สำหรับการใช้ประโยชน์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วย สามารถใช้ได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายฉบับนี้

หากใครที่ใช้กัญชาที่ขัดกับประกาศฉบับนี้ จะมีโทษ ทางอาญา ซึ่งขัดต่อ มาตรา 46 ที่บัญญัติห้ามไว้แล้ว ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาต โทษทางอาญา เป็นไปตาม มาตรา 82 มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งประกาศฉบับนี้ จะสามารถนำไปอ้างอิงกับต่างประเทศได้ ว่าเรามีการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับพืชที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า “การประกาศ กัญชา เป็นสมุนไพรควบคุมเป็นสิ่งที่ดี แต่เนื้อหาสาระในข้อ 2 ที่ ยกเว้น ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ก็เท่ากับปล่อยเสรี สุ่มเสี่ยงให้เยาวชนหนุ่มสาวใช้ในทางที่ผิด ดังที่เป็นข่าวในสื่อต่างๆ และการยกเว้นนี้ยังสงสัยว่าขัดกับกฏหมายแม่หรือพรบ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ เพราะสมุนไพรควบคุมทุกชนิดที่ประกาศแล้ว ควรที่จะต้องถูกควบคุมตามกฏหมายหลักที่ต้องมีใบอนุญาต ในมาตรา 46 ที่บัญญัติว่า“ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต”

หากจะยุติภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย และช่วยให้สถานการณ์ปัญหาและความสับสนต่าง ๆ จากการจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการ การใช้ในทางที่ผิดที่ไม่ใช่การแพทย์ การปรุงอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผสมกัญชาที่ควบคุมไม่ได้เพื่อจำหน่ายยุติลงได้ก่อนที่จะมี พรบ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภานั้น มีทางออกไม่ยากให้ประกาศ สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ฉบับใหม่ ที่ยกเลิกความเดิมในข้อ 2 ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ 2565 เท่านั้นเอง


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม