ฉลาดซื้อ สุ่มตรวจแมงกะพรุนดอง ทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและร้านค้าออนไลน์ ทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่พบฟอร์มาลินปนเปื้อน
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 22-11-2023 10:56
หมวดหมู่: อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลการสุ่มทดสอบแมงกะพรุนดอง 13 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ได้แก่ ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล รวมถึงร้านค้าออนไลน์ สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย ไม่พบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย
วันนี้ (วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566) นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนฟอร์มาลินในอาหารสด เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของเขตสุขภาพที่ 9 ปี 2563-2565 ใน 4 จังหวัด นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ พบว่า ชนิดของตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลิน ในปี 2565 มากที่สุดคือ หมึกกรอบ หมึกสด สไบนางกุ้ง เล็บมือนาง แมงกะพรุน ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการสุ่มทดสอบหมึกกรอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ จำนวน 14 ตัวอย่าง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ก็พบกว่าร้อยละ 57 ที่ปนเปื้อนฟอร์มาลิน โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร
ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังจึงได้ทำการสุ่มทดสอบการปนเปื้อนสารฟอร์มาลินในแมงกระพรุนดอง ตัวอย่างที่สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้า ทั้งในตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าออนไลน์ ได้แก่ 1.ตลาดเก่าเยาวราชกรุงเทพ 2.ตลาดยิ่งเจริญกรุงเทพ 3.ตลาดคลองเตย 4.ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ 5.ตลาดท่าน้ำนนท์ นนทบุรี 6.ตลาดมหาชัย-สมุครสาคร 7.ตลาดไท ปทุมธานี 8.แม็คโคร รังสิต คลอง4 9.กรูเม่ต์ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน 10.บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า รัชดาภิเษก 11.ฟู้ดแลนด์ สาขาพัฒน์พงศ์ ร้านค้าออนไลน์ใน Shopee 13.ร้านค้าออนไลน์ใน Lazada ทดสอบโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 จากการทดสอบพบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน
จากข้อมุลพบว่า สัตว์ทะเลจะพบปริมาณของฟอร์มาลินที่มีในธรรมชาติไม่มาก (ไม่เกิน 5 ppm). ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค ในขณะที่ฟอร์มาลินที่จงใจฉีดหรือแช่ในอาหารทะเล ผักหรือเนื้อสัตว์จะมีการตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
สำหรับประเทศไทยฟอร์มาลิน (Formalin) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ. 2561)
หลังจาก โครงการได้สุ่มตรวจฟอร์มาลินในหมึกดอง และแมงกะพรุนเป็นลำดับถัดมาแล้ว ต่อมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุข จ. พระนครศรีอยุธยา ได้จัดประชุมความร่วมมือกับเครือข่ายการทำงานเฝ้าระวังอาหารปลอดภัย โดยได้รับความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม ได้แก่ สมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุข จ. พระนครศรีอยุธยา, จ. สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักอนามัย กทม. เข้าร่วม ในวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2566 โดยการประชุม “ระดมสมองเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน กรณีหมึกกรอบ” มีผลการประชุมทำให้เกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ทั้งจากสำนักอนามัย กทม. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และในระดับพื้นที่ คือสมาคมผู้บริโภคสุราษฎร์ธานี หน่วยประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี สภาองค์กรของผู้บริโภค จะสื่อสารข้อมูลในพื้นที่เพื่อทำงานเฝ้าระวังอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน ในตลาดชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งในระยะสั้น กลาง ยาวต่อไป และจะนำการณรงค์ เรื่องการให้ป้ายร้านค้าที่มีการตรวจสอบ ซึ่งเคยใช้ได้ผลดีในการรณรงค์ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญกลับมาใช้อีกครั้ง ขณะที่สาธารณสุขทุกจังหวัดที่เข้าร่วมได้มีแผนการดำเนินการเฝ้าระวังอยู่แล้วจะเฝ้าระวังสารปนเปื้อน ฟอร์มาลิน ให้มากขึ้น
ทั้งนี้ การสุ่มตรวจแมงกระพรุนของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
สามารถอ่านผลทดสอบได้ที่ : ผลทดสอบฟอร์มาลินในแมงกะพรุนดอง