เหตุนี้! .. มีเรื่อง “เครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติมีเหตุน่ะสิ!
เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
เขียนเมื่อ: 29-08-2023 13:31
หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

เหตุนี้! .. มีเรื่อง “เครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติมีเหตุน่ะสิ! ”
ซื้อเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติยี่ห้อหนึ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อยู่ในช่วงลดราคาพอดี เหลือแค่ 3 พันบาท จากเกือบ 5 พันบาท ใช้ได้ 1 ปี เริ่มมีปัญหาซะละ เมื่อเครื่องผลิตน้ำแข็งออกมาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ที่น่าตกใจ มีเศษสนิมออกมาพร้อมกันด้วยนี่สิ! แต่แหม .... หมดประกันพอดี จะส่งไปซ่อมกับร้านที่ซื้อมา มันก็เสียเวลา ต้องส่งไปรษณีย์ เสียยุบ เสียยับ ถ้างั้น เอางี้ ส่งช่างซ่อมแถวบ้านดีกว่า พองัดด้านในออกมาดู เท่านั้นละ สนิมจริงๆ ด้วย เกาะอยู่เต็มบริเวณแท่งทำน้ำแข็ง ไม่ได้การละ จัดการถ่ายรูปส่งให้ร้านค้าที่ซื้อมาดู แต่! อีกฝ่ายอ้างว่า มันคือนิกเกิล ( Nickel) เป็นโลหะที่มีความมันวาวสีขาวเงินอยู่กลุ่มเดียวกับเหล็ก มีความแข็งแต่ตีเป็นแผ่นได้ ส่วนที่คุณลูกค้าบอกว่ามันเป็นสนิม ไม่ใช่เลยค่ะ ที่เห็นเป็นน้ำสีเหลืองๆ ติดมากับน้ำแข็ง เป็นเพราะตัวเคลือบหลุด หากต้องการให้ทางร้านซ่อมให้ ต้องเปลี่ยนแท่งทำน้ำแข็งกับมอเตอร์ ขอคิดค่าใช้จ่ายบวกค่าขนส่งไป-กลับ รวม ประมาณ 1,000 บาท
เมื่อคิดสะระตะ ทางผู้เสียหายมองว่าไม่คุ้มค่าสักอย่าง เพราะถ้าซ่อมอีกมันก็ต้องมีสนิมปนออกมาอีก มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มิสู้จ่ายเงินซื้อเครื่องใหม่ดีกว่า แล้วก็มาฉุกคิดได้ว่า ต้องตรวจสอบข้อมูลซะหน่อย ร้านค้ามันต้องเขียนโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณอะไรบางอย่างให้คนอยากซื้อสินค้า พอเปิดดูบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้าน เจอจริงๆ ด้วย เขียนว่า เครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติยี่ห้อนี้ มี “ใบรับรองมาตรฐานสินค้าของยุโรปตัวย่อ “CE” ยังไม่เข้าใจมันคืออะไรหว่า ถามอากู๋ google กูเกิล ดีกว่า อ๋อ รู้ละ มันมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “Conformite Europeene” ภาษาอังกฤษ คือ “European Conformity” หมายถึงมาตรฐานความสอดคล้องในทวีปยุโรป ซึ่งการรับรอง CE คือกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัยในสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการทดสอบที่ระบุไว้ จึงจะสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายในสหภาพยุโรปและเขตเศรษฐกิจยุโรป
เอ๊ะ แล้วเครื่องทำน้ำแข็งอัตโนมัติเครื่องนี้ นำเข้ามาขายในประเทศไทยก็ต้องมี “มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (มอก.) “ด้วยสิ! ไหนลองเปิดดูคู่มือที่ส่งมาพร้อมกับเครื่องทำน้ำแข็ง มีหรือเปล่า อ่านดูแล้วไม่มีแฮะ อ้าว! ทำไมล่ะ ด้วยความสงสัยคาใจ ส่งข้อความไปถามร้านค้าที่ขายดีกว่า ฝ่ายนั้นตอบกลับมาว่า “สินค้าของร้านเรา ได้การรับรองมาตรฐานจาก CE ของยุโรป จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน มอก. ของไทย (ตอบแบบนี้ได้ด้วยเหรอ) ถ้างั้นในฐานะเราเป็นลูกค้าขอดูใบรับรองของ CE หน่อย แต่ทางร้านยืนกรานไม่ยอมให้ อ้างว่าเป็นเอกสารภายใน ไม่สามารถเปิดเผยได้ ( ปกปิดอะไรนักหนาเนี่ย ) ชักสงสัยเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือเปล่า
เมื่อเจอแบบนี้เริ่มไม่แน่ใจ จึงมาขอแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มี มอก. สามารถขายในเมืองไทยได้หรือไม่? เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ จึงยืนยันไปว่าอย่ามาอ้าง CE เพราะขายสินค้าในไทยให้คนไทยต้องมีมาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน แถมเครื่องทำน้ำแข็งตัวนี้ ยังมีสนิมปนออกมากับน้ำแข็งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยหน่วยงานที่จะพิสูจน์ให้ชัดเจนเป็นอะไรกันแน่ต้องเอาเครื่องไปส่งตรวจที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) อ้อ! หลักฐานสำคัญอีกอย่างที่ห้ามทิ้งเด็ดขาดคือ “เอกสารคู่มือการใช้สินค้าถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่จะบอกมาตรฐานของสินค้านั้นๆ ( น่าเสียดายที่ผู้เสียหายรายนี้ทิ้งไปแล้ว )
ส่วนน้ำแข็งที่มีสนิมปนออกมา ผู้บริโภคต้องรีบนำสินค้านั้นๆ ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( อย. ) ทันที โดยกรุงเทพฯ สามารถเดินทางมาส่งมอบได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ชั้น 1 อาคาร 5 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการบันทึกคำให้การ พร้อมนำตัวอย่างสินค้าที่มีปัญหาไปส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่กรุงเทพฯ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 12 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้ทันที ( วิธีนี้ถือเป็นกระบวนการดีที่สุด ) หรือแจ้งเรื่องผ่านช่องทางโทรศัพท์ - โซเชียลมีเดีย มาก่อนจากนั้น ค่อยส่งสินค้าที่มีปัญหามาทางดิลิเวอรี ตามหลังมา หากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดให้นำสินค้าที่มีปัญหามาแจ้งที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ การนำส่งพยาน-หลักฐานที่สมบูรณ์จะช่วยให้ อย. ทำงานได้ง่ายขึ้น
หากได้หลักฐานครบถ้วน ฝ่ายร้านค้าจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถไป แจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ได้ประโยชน์ทั้งการยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้ง และใช้เป็นหลักฐานนำไปยื่นร้องที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หากถึงที่สุด อาจต้องฟ้องร้องไปฟ้องที่ศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็พร้อมช่วยเหลือทางด้านเอกสารหรือทางคดี แม้เงิน 3 พันบาท บางคนบอกไม่คุ้มที่จะไปฟ้องร้องแต่สิทธิผู้บริโภคหากต้องการรักษาก็จงอย่าละเลย ที่สำคัญแพลตฟอร์มที่รับร้านค้ามาลง เวลาเกิดเหตุต้องมีส่วนรับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้น ต้องคัดกรองมาตรฐานสินค้าที่มีคุณภาพ หากมีเหตุสร้างความเสียหายกับผู้บริโภค
เครดิตเรื่อง : ณัฐกันต์ จตุรวงษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
อ่านเพิ่มเติม : คู่มือฟ้องคดีผู้บริโภค ศาลผู้บริโภคหรือศาลแผนกคดีผู้บริโภค เป็นระบบวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งของศาลยุติธรรมรูปแบบใหม่ตามพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา อ่านต่อจากเว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค https://www.consumerthai.org/data-storage/consumers-law/3882-600420.html
ฟ้องคดีผู้บริโภคไม่ต้องใช้ทนายทำได้จริง ใช้กฎหมายช่วยฟ้อง อ่านต่อ เว็บไซต์ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค https://chaladsue.com/article/3495