มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

ปีใหม่ยังน่าห่วง! กฎหมาย ‘คาร์ซีท’ มีผลบังคับใช้ 28 ธ.ค. นี้ ม.มหิดลห่วงใยร่วมมือองค์กรเพื่อผู้บริโภครณรงค์ใช้คาร์ซีท ยืนยันผลการทดสอบลดการตายในเด็กปฐมวัยกว่า 75% และลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40 %

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 21-12-2022 16:29

หมวดหมู่: สินค้าและบริการทั่วไป

ภาพประกอบข่าว

นับถอยหลังสู่ช่วงแห่งการเฝ้าระวังอุบัติเหตุบนท้องถนนในเทศกาลปีใหม่ มีสถิติการเสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์ 14,669 คน เป็นกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 104 คน โดยเฉพาะกลุ่มปฐมวัยที่ปัจจุบันยังไม่มีรถยี่ห้อใด รุ่นใดที่ผลิตให้เด็กโดยสารได้อย่างปลอดภัย ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) จึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะสามารถลดการตายในเด็กปฐมวัยกว่า 75% และลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40 % ประเทศไทยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย แต่ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งโดยพระราชบัญญัตินี้ยังไม่แล้วเสร็จทั้งที่ ตามมาตรา 40 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (4 ธ.ค.65) เด็กยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองจากการโดยสารรถยนต์ต่อไป

ในงานแถลงข่าว “ม.มหิดลห่วงใย ปีใหม่เด็กไทยปลอดภัย เมื่อใช้คาร์ซีท”วันที่ 21 ธันวาคม 2565 ณ ห้องลานเพลินชั้น 2 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า “น่าแปลกใจที่หลายหน่วยงานไม่ยอมดำเนินการออกกฎระเบียบต่างๆให้แล้วเสร็จ หลายครอบครัวยังคงคัดค้าน ไม่ยอมใช้คาร์ซีท ในงานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์ EXPO 2022 พบว่ามีผู้คนเข้าชมงานกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน มีการจองรถยนต์รวมทั้งสิ้น 36,000 คัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่รถยนต์ทุกยี่ห้อเป็นผลิตภัณฑ์ที่เด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีไม่สามารถใช้ได้โดยอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมากับรถยนต์ ต้องใช้กับอุปกรกรณ์เสริมคือที่นั่งนิรภัยเท่านั้น และเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กๆอายุต่ำกว่า 15 ปีกว่าปีละ 140 คน แต่กลับยังไม่มีใครออกตัวมาแสดงตนเป็นผู้นำหลักในการรณรงค์ขับเคลื่อนการใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็ก”

“การลดการตายที่ดีที่สุดในรถยนต์คือการยึดเหนี่ยวผู้โดยสาร เป็นนวัตกรรมเดียว การที่มีการออกแบบที่ดีขึ้น แต่ไม่มีการยึดเหนี่ยว เป็นความรู้ที่สูญเปล่า ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย ในงานมหกรรมยานยนต์ มอเตอร์ EXPO 2022 ไม่มีการพูดถึงความปลอดภัยของเด็กทั้งที่รถยนต์เกือบทุกยี่ห้อได้รับการทดสอบและจัด rating ระดับความปลอดภัยในเด็ก (child safety rating) ทั้งโดย EURONCAP และ ASEAN NCAP แต่ไม่ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวมาส่งเสริมการขาย”

ปัจจุบันหลายประเทศมีกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีทแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2530 โดยการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเมื่อใช้อย่างถูกวิธีจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุ 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50

การมีความเข้าใจและใช้คาร์ซีทอย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญอย่างมาก หลังการประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ได้มีคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อน 4 ประเด็นได้แก่ ประเด็น ด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และด้านราคาและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ

ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่ากลไกด้านการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก ควรมีข้อแนะนำให้กับประชาชนในการเลือกซื้อ/ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กที่เหมาะสมและปลอดภัย มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนโดยหน่วยงานต่างๆ ให้กว้างขวาง กระทรวงสาธารณสุขควรให้ความรู้ผ่านโรงพยาบาลทุกแห่ง ภาคธุรกิจรถยนต์ควรมีความรับผิดชอบให้ข้อมูลความปลอดภัยของการโดยสารของเด็กในรถที่จำหน่ายทุกคัน นายแพทย์อภิชาติ ย้ำว่า “วิธีที่ดีที่สุดคือการคาดเข็มขัดนิรภัยและคาดอย่างถูกต้อง เพราะเมื่อรถชน หากไม่คาดเข็มขัด แอร์แบคจะยิ่งกระแทกกับร่างกายเพราะไม่มีระยะห่างในหญิงตั้งครรภ์หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยจึงยิ่งอันตราย”

ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA), ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าคาร์ซีทเป็นเรื่องสิทธิเด็กที่ต้องได้รับการคุ้มครอง กลไกด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กมีความสำคัญ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมควรร่างประกาศการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยจะออกเป็นเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป โดยอ้างอิงตามมาตรฐาน UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า หรือให้สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดการแสดงฉลาก UNR44 และ UNR129 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า รวมทั้งคำเตือนอื่นๆ ผู้ขายรถยนต์ต้องให้ข้อมูลความปลอดภัยในเด็กแก่ผู้ซื้อมากกว่านี้ รวมทั้งตลาดที่นั่งนิรภัยที่กำลังเติบโตขึ้นต้องคำนึงถึงมาตรฐาน ควรมีการจัดเตรียมศูนย์ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ทางสภาองค์กรผู้บริโภคจะติดตามการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในตลาดและประสานความร่วมมือในการกำกับดูแลมาตรฐานของที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ผมเป็นทั้งนักวิชาการและเป็นพ่อของลูก คาร์ซีทมีความสำคัญอย่างมากในการพาลูกของเราไปในที่ต่างๆ แต่ปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานและฉลากเมื่อจะเลือกซื้อผมเรียกร้องให้เข้ามากำกับดูแลฉลากเพื่อให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง เลือกซื้อคาร์ซีทได้เหมาะสมกับลูกหลาน หน่วยงานของรัฐสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน สร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องได้ และเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้แล้วต้องช่วยกันทำให้คาร์ซีทเข้าถึงได้ ในต่างประเทศรุดหน้าไปมาก ในเยอรมัน มีคาร์ซีทแถมให้เมื่อซื้อรถยนต์ หรือแม้แต่ในรถแท็กซี่เองก็ตาม เราจะต้องไม่ละเมิดสิทธิของเด็ก เราสามารถทำได้หลายอย่างเพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งความปลอดภัย ทั้งการคาดเข็มขัดนิรภัยที่ถูกต้องให้ลูกได้เรียนรู้”

ส่วนของประเทศไทย การทำงานของภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีความร่วมมือ กับองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) คุณทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ICRT มีการทดสอบคาร์ซีททุกปีเพราะคาร์ซีทมีรุ่นใหม่ออกมาเสมอ โดยก่อนการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นำผลการทดสอบคาร์ซีทมานำเสนอ เป็นการทดสอบของ ICRT ตามมาตรฐานของ EU เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจต่อการใช้คาร์ซีท และรณรงค์ให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของคาร์ซีท โดยผู้บริโภคสามารถใช้ผลการทดสอบ เป็นคู่มือประกอบการพิจารณาเลือกซื้อคาร์ซีทได้ ซึ่งคาร์ซีทที่แพงที่สุด ไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป”

สำหรับการทดสอบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ที่ฉลาดซื้อได้นำผลการทดสอบมาเผยแพร่ เป็นเป็นการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กตามมาตรฐานของ EU มีทั้งเกณฑ์ด้านความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้งาน การออกแบบตามหลักการยศาสตร์ รวมถึงตรวจหาสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในยุโรป เป็นการทดสอบจากการจำลองการชนในห้องปฏิบัติการและการใช้จริงทั้งผู้เชี่ยวชาญและครอบครัวตัวจริง ป้ายรับรองมาตรฐานคาร์ซีทจึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยที่นั่งคาร์ซีทจะต้องมีป้ายรับรองมาตรฐานยูเอ็น ( UN Standard) ECE R44/04 เป็นมาตรฐานความปลอดภัยคาร์ซีทที่ยอมรับในระดับสากล

ภญ.ดร. ณัฎฐพร บูรณะบุญวงศ์ ตัวแทนผู้ประกอบการ กล่าวว่าหลักสำคัญในการเลือกและใช้งานคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัย ต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระของลูก คาร์ซีทแต่ละรุ่นจะผ่านการทดสอบมาตรฐานตามช่วงน้ำหนัก หรือส่วนสูงของเด็ก และจะกำหนดช่วงน้ำหนัก/ส่วนสูงของเด็กที่เหมาะสมกับคาร์ซีทรุ่นนั้นๆ โดยที่มาตรฐาน R44/04 จะใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ ส่วนมาตรฐานใหม่ R129 จะใช้ส่วนสูงของเด็กเป็นเกณฑ์ ดังนั้น การเลือกคาร์ซีทจำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของลูก ขั้นต่อมาต้องเลือกระบบติดตั้งที่เหมาะกับรถยนต์ ปัจจุบันมี ระบบติดตั้งด้วยเข็มขัดนิรภัย 3 จุด และระบบติดตั้งด้วยไอโซฟิก โดยทั้ง 2 ระบบ ถ้าทำการติดตั้งอย่างถูกต้อง สามารถให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน แต่การติดตั้งด้วยระบบไอโซฟิกจะทำให้การติดตั้งอย่างถูกต้องทำได้ง่ายขึ้นและแน่นหนาขึ้น ดังนั้นก่อนเลือกซื้อคาร์ซีทควรตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้งานว่ารองรับการติดตั้งระบบใดได้บ้างขั้นต่อมาต้องใช้งานอย่างถูกต้อง การใช้งานคาร์ซีทอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเด็กอย่างมากที่สุด โดยการใช้ครั้งแรกเด็กย่อมไม่คุ้นเคยจึงต้องหาวิธีอื่นๆ ให้เด็กเพลิดเพลินและสนุกไปกับการเดินทางเข้ามาช่วย

รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่าสำหรับกลไกด้านราคาและมาตรการสนับสนุนด้านภาษีนั้น ปัจจุบันไม่มีภาษีนำเข้าคาร์ซีทแล้วจึงทำให้ราคาถูกลงมาก “การทำงานของภาครัฐยังมีหลายส่วนที่ยังไม่เดินหน้าดำเนินงาน ภาครัฐยังไม่มีมาตรการจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนด้านราคาของที่นั่งนิรภัย ไม่มีนโยบายเฉพาะในการช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยได้ง่ายขึ้น การจัดตั้งธนาคารที่นั่งนิรภัยในจุดบริการเด็กต่างๆ เช่นในโรงพยาบาล ในศูนย์เด็กเล็กฯ และในสถานศึกษา ยังไม่มีการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ เหล่านี้คือเรื่องที่รัฐควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่สร้างภาระอันเกินควรในการออกกฎหมายละเมิดสิทธิตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องร่วมกันเรียกร้องสิทธิของเด็กเพื่อความปลอดภัยของเด็กอย่างเร่งด่วนต่อหน่วยงานต่างๆ”

ปัจจุบันสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวและหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนร่วมมือในการสร้างกลไกด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน มี“จิตอาสาคาร์ซีท”โดยจัดการอบรมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข อสม อพปร เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน คนขับรถสาธารณะ แทกซี่ เพื่อสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป ผู้สนใจสามารถสมัครเข้ามาร่วมอบรมเป็น“จิตอาสาคาร์ซีท”กับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค เพจ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล

อ่านผลการทดสอบเปรียบเทียบที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ได้ที่ : นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 234 ปี 2563 | www.chaladsue.com


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม