มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ 02 248 3737
ให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์
Consumer Thai Facebook page

< กลับไปหน้ารวมข่าว

องค์กรผู้บริโภคชวนจับตา 1 ก.พ. 68 กทม.รับปากรื้อถอนตึกดิเอทัสสร้างผิด กม. หลังยื้อ 10 ปี จ่อฟ้อง 157 หากไม่คืบหน้า

เขียนโดย: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

เขียนเมื่อ: 26-01-2025 11:58

หมวดหมู่: ที่อยู่อาศัย

ภาพประกอบข่าว

องค์กรผู้บริโภคชวนจับตา 1 ก.พ. 68 กทม.รับปากรื้อถอนตึกดิเอทัสสร้างผิด กม. หลังยื้อ 10 ปี จ่อฟ้อง 157 หากไม่คืบหน้า

10 ปี The Aetas ยื้อเวลารื้อถอนอาคารสร้างผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด องค์กรผู้บริโภค สุดทน จี้ กทม.เร่งจัดการขั้นเด็ดขาด จับตาการรับปากเดินหน้า 1 กุมภาพันธ์นี้ หากไม่สำเร็จ จะใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องเอาผิดหน่วยงานรัฐ และเอกชน

**จากเหตุนี้เอง ทำให้เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นแม่งาน จัดเวทีถอดบทเรียน “10 ปี The Aetas กับการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด” ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ กรุงเทพฯ มีตัวแทน ของผู้เสียหาย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ยื่นฟ้อง ตัวแทนหน่วยงานสังกัด กรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาให้คำตอบกับความล่าช้า ร่วมด้วย นักกฎหมายอิสระ และตัวแทนจากศาลปกครอง มาร่วมให้ข้อมูล

โดยการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรม เริ่มขึ้น เมื่อเดือนกันยายน 2551 นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ และประชาชนในซอยร่วมฤดี รวมตัวกันฟ้องร้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ปล่อยให้บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ผู้ประกอบการโรงแรมดิเอทัส ก่อสร้างอาคารสูง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีคำสั่งระงับการก่อสร้าง จนเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้ระงับการใช้อาคารและรื้อถอนอาคารที่ผิดกฎหมาย แต่ กทม. ยื่นอุทธรณ์ จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นการพิพากษายืนตามศาลปกครอง ซึ่งตาม ข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535 ออกตามความในพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กำหนดว่า ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น ไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมกับถนนสาธารณะอื่น ที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร แต่ผ่านมา 10 ปีหลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา อาคารดิเอทัส ก็ยังไม่ถูกรื้อถอน

ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ เป็นผู้ที่ต่อสู้กับเรื่องนี้มาตั้งแต่อายุ 77 ปี จนถึงปัจจุบัน อายุ 97 ปี เวลาผ่านมา 20 ปี ก็ยังไม่ท้อ นับจากเดือนกันยายน 2548 ที่ได้ร่วมต่อสู้กับผู้เสียหาย 24 คน ในคดีประวัติศาสตร์ ซอยร่วมฤดี ที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว แต่เขตปทุมวัน กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารที่สูงผิดกฎหมาย ทั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนเพราะหวาดกลัว วิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจราจรที่แออัด รวมถึง ปัญหาอัคคีภัย เพราะเมื่อปี 2538 เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดี แต่รถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาได้ทันท่วงทีเนื่องจากเป็นซอยขนาดเล็ก มีเพียงรถยนต์วิ่งไป-กลับ 2 เลน เท่านั้น แต่ในที่สุด เขตปทุมวัน กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารที่สูงผิดกฎหมาย จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้น การต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิด้านความปลอดภัยของที่อยู่อาศัย อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงขอให้ กทม. คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ” นี่คือเสียงสะท้อนของตัวแทนผู้เสียหายจากการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย โครงการ The Aetas ซอยร่วมฤดี

นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า ในขั้นตอนการบังคับคดี กระบวนการมีความล่าช้า และถูกยื้อเวลาจากฝ่ายเอกชนมาโดยตลอด เพราะนับตั้งแต่ วันที่ 15 มีนาคม 2565 ทาง สำนักงานเขตปทุมวัน ได้นำ “บริษัท ทำเลไทย ธรรมชาติ จำกัด” เข้าพื้นที่เพื่อรื้อถอน อาคาร 2 หลังที่ผิดกฎหมายของ ดิ เอทัส แต่ติดปัญหามีทรัพย์สินอยู่ภายใน จึงแจ้งคำสั่งให้ดำเนินการย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพิพาทภายใน 30 วัน แต่ฝ่ายเอกชนกลับไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไป แถมต่อมายังพบปัญหา มีการควบคุมการเข้าออกอาคาร พร้อมกับกุญแจล็อกประตู และแจ้งว่า “ห้ามทำให้ทรัพย์สินทุกชิ้นภายในอาคารเสียหาย” เหตุการณ์ยืดเยื้อ จนถึง 22 พฤศจิกายน 2566 แต่ผู้แทนเจ้าของอาคารยังคงประวิงเวลา และแจ้งว่าทาง บริษัทฯ ยังไม่สะดวกในการส่งมอบพื้นที่ให้กับสำนักงานเขตปทุมวัน และไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด กระทั่ง 24 พฤษภาคม 2567 สำนักงานเขตปทุมวัน ได้มีหนังสือส่งถึง บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ว่าจะดำเนินการเข้าพื้นที่ เพื่อดำเนินการรื้อถอนอาคารทั้งสอง ในวันที่ 29 พฤษภาคม ปีเดียวกัน โดยขอให้เตรียมส่งมอบพื้นที่และบัญชีรายการทรัพย์สิน ให้กับสำนักงานเขตปทุมวัน แต่สุดท้ายไม่มีความคืบหน้าใดๆ

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนหน่วยงาน กทม. ที่มาร่วมเวที 10 ปีแห่งบทเรียนดิเอทัส ชี้แจงว่า ได้เร่งดำเนินการรื้อถอน 2 อาคารที่ผิดกฎหมาย โดยจัดทำบัญชีทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งประเด็นนี้ องค์กรผู้บริโภค สรุปความเห็นตรงกันว่า หากไม่เป็นไปตามที่รับปาก อาจต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย ยื่นฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เอาผิด ผู้ว่ากทม. จนถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทุกคน ฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และที่สำคัญกทม. ต้องแจ้งความดำเนินคดีอาญากับเจ้าของอาคารที่กระทำการผิดกฎหมาย โดยองค์กรผู้บริโภค ตั้งเป้าหมายให้การรื้อถอนอาคาร ดิ เอทัส สำเร็จเป็นรูปธรรมเสียที หวังว่าความทุกข์ของประชาชน คุณหมอสงครามและผู้เสียหาย เป็นบทเรียนในการดำเนินของผู้บริโภคที่ยาวนานถึง 20 ปี จะไม่เกิดซ้ำรอยกับกรณีนี้ ซึ่งนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภคสรุปปิดท้ายว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นบทพิสูจน์ จะเป็นแค่กระดาษ ที่ผู้บริโภคชนะคดี แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง หรือไม่


ปรึกษา ร้องเรียน
สอบถามเพิ่มเติม